“บ้านดิน” มนต์เสน่ห์มรดกโลกแห่งเมืองหนานจิง

06 สิงหาคม 2560
อาคารทรงกลมสีน้ำตาลตั้งตระหง่านอย่างสง่างามท่ามกลางหุบเขาที่แวดล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจี ด้วยฝีมือและภูมิปัญญาโบราณของชาวฮกเกี้ยน ที่ตั้งรกรากและอาศัยอยู่ในเขตอำเภอหนานจิง เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 12–20 ในช่วงเวลาของราชวงศ์ซาง ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง รูปแบบอาคารที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความแข็งแกร่งและความงดงามของสิ่งก่อสร้างที่รังสรรค์ขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมโบราณที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมได้เป็นอย่างดี

MP32-3285-c ด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศที่บริสุทธิ์ สะอาด เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้ต่างๆ โดยเฉพาะพรรณไม้งามอย่าง “กล้วยไม้” หนานจิ้ง จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งดอกกล้วยไม้ของจีน” แต่เมื่อย้อนเวลากลับไปที่นี่ก็ไม่ต่างกับดินแดนที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและโจรผู้ร้ายที่พร้อมจู่โจมชุมชนที่มีการกักตุนเสบียงอาหารอยู่ทุกเมื่อ วัตถุประสงค์ของการสร้างอาคารจึงไม่ได้เป็นเพียงที่พัก แต่ยังเป็นที่ป้องกันภัยทั้งโดยมนุษย์และโดยธรรมชาติ ซึ่งการป้องกันภัยอาจไม่ทั่วถึงหากแต่ละครอบครัวต่างสร้างบ้านเรือนอาศัยเฉพาะของตนเอง

MP32-3285-g การพิจารณาจากบ้านดินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือ “บ้านดินอี้ชางโหล่ว” บ้านดินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน สร้างขึ้นราวปี ค.ศ.1308 เมื่อนับถึงปัจจุบันบ้านดินแห่งนี้มีอายุมากกว่า 700 ปี ช่วงเดียวกับการเกิดอาณาจักรสำคัญในประเทศไทย อาคารทรงกลมขนาดใหญ่หลายชั้นที่แบ่งเป็นห้องขนาดเท่าๆ กัน และแต่ละห้องหันหน้าเข้าหากันทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนที่อยู่อาศัยในอาคารแห่งนี้ช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยและยังสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเวรยามสอดส่องด้านบนซึ่งเปลี่ยนเป็นหอยืนยามและป้อมยิงสำหรับการต่อสู้กับศัตรูจากภายนอกได้อีกด้วย ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ยาวกว่า 36 เมตร ความสูง 5 ชั้น รวมทั้งหมด 18.2 เมตร ทำให้บ้านดินแห่งนี้มีจำนวนห้องมากถึง 270 ห้อง มีบันไดซึ่งให้เป็นตัวแบ่งสัดส่วนของบ้านออกเป็น 5 ส่วน ขึ้นลงทั้งหมด 5 ทางโดยรอบ ไม่เพียงเท่านั้นบ้านดินแห่งนี้ยังมีจำนวนบ่อน้ำถึง 22 บ่อ ในบริเวณห้องครัวด้านล่าง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในบรรดาบ้านดินในมณฑลฝูเจี้ยนทั้งหมด ความโดดเด่นของบ้านดินอี้ชางโหล่วอีกประการหนึ่งคือภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งในบริเวณชั้นสองขึ้นไปมีเสาไม้ลาดเอียดถึง 210 ท่อน และท่อนที่เอียงที่สุดมีความเอียดถึง 15 องศา การวางโครงสร้างที่แข็งแกร่งผนึกดินจำนวนมหาศาลไว้อย่างมั่นคงทำให้บ้านดินแห่งนี้รอดพ้นจากแผ่นดินไหวมานับครั้งไม่ถ้วนและตั้งตระหง่านอย่างสง่างามจนถึงปัจจุบัน

MP32-3285-e สำหรับบ้านดินที่เป็นจุดไฮไลต์สำคัญของหนานจิงก็คือ “หมู่บ้านเถียนหลัวเคิง” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันจนชินปากว่า “ข้าวสี่จานซุปหนึ่งถ้วย” เนื่องจากลักษณะภายนอกของกลุ่มบ้านดินที่เป็นบ้านดินทรงกลม 4 หลัง โอบล้อมบ้านดินทรงสี่เหลี่ยม 1 หลัง แสดงถึงความเชื่อเรื่องวัฏจักรการกำเนิดของธาตุทั้งห้า คือ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ และดิน ตามปรัชญาจีนโบราณ หากมองจากด้านบนกลุ่มบ้านดินนี้จะมีลักษณะเหมือนกับดอกเหมยฮัว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติ หมายถึง ความเข้มแข็ง มั่นคง และอุตสาหะ ด้วยการจัดวางองค์ประกอบโครงสร้างและความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมทำให้ “บ้านดินของหมู่บ้านเถียนหลัวเคิง” ได้รับยกย่องให้เป็น “มรดกโลกด้านวัฒนธรรม” จากองค์การยูเนสโกในปี 2008

MP32-3285-d ไม่เพียงเท่านั้นความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมบ้านดินเมืองหนานจิง ซึ่งมีบ้านดินถู่โหลวมากกว่า 1,300 หลัง กระจายตัวอยู่บนพื้นที่กว่า 1,968 ตารางกิโลเมตร ยังได้รับการยกย่องจากสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น “Keiichiro Mogi” ว่าเป็นสิ่งที่ UFO ส่งลงมาจากฟากฟ้า และผุดขึ้นมาจากพื้นดินดั่งเห็ด และในปี 2011 “บ้านดินถู่โหลวหนานจิง” ได้รับการจัดอันอับจากการท่องเที่ยวประเทศจีนให้อยู่ในระดับ 5A หรือระดับสูงสุดของสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศจีน สมกับการเป็นแหล่งวัฒนธรรมมรดกโลกที่ควรค่าแก่การเดินทางไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต

MP32-3285-b การเดินทางไปสัมผัสเมืองมรดกโลกแห่งนี้ไม่ยากอย่างที่คิด เริ่มต้นจากการบินโดยสายการบินไทยปลายทาง “เซี่ยเหมิน” (XMN) และนั่งรถต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมง หรือจะแวะไปเที่ยวไต้หวันก่อนแล้วนั่งเรือเฟอร์รีข้ามมาเที่ยวก็คุ้มค่าไม่แพ้กัน แล้วคุณจะรู้ว่าความอลังการของดินแต่ละเม็ดเมื่อผนึกกันจนแข็งแกร่งก็ไม่แพ้หินผาแต่อย่างไร

MP32-3285-f จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560