ญี่ปุ่น-เกาหลี รุมทึ้งไฮสปีด

23 ก.ค. 2560 | 07:08 น.
คมนาคมลุ้นต่างชาติร่วมชิงเค้กรถไฟความเร็วสูง หลังโครงการไทย-จีนเริ่มนับหนึ่ง ญี่ปุ่นเสนอยืดรถไฟ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จากดอนเมืองไปถึงพระนครศรีอยุธยา เชื่อม 2 ฐานการผลิตหลัก คมนาคมโดดรับใช้ “โตเกียว สเตชัน” เป็นต้นแบบ ด้านเกาหลีหวั่นตกขบวน เสนอตัวศึกษาแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก พร้อมประมูลชิงสายใต้-ตะวันออก

ขณะนี้ประเทศไทยยังคงเนื้อหอมด้านการลงทุนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง แม้ว่าล่าสุดจะมีผลการศึกษารองรับไว้แล้วทั้งส่วนตะวันออกเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองเพื่อเชื่อม 3 สนามบินและเส้นทางสายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลกที่มีแผนขยายเส้นทางไปถึงเชียงใหม่ในระยะต่อไป ตลอดจนเส้นทางสายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหินที่ทั้งเอกชนไทยและต่างประเทศขอร่วมแข่งประมูล

แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนก่อสร้างและประมูลโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางต่างๆ ทั้งในรูปแบบความร่วมมือรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือการเปิดประมูลนานาชาติ หลังจากที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนลงนามนับหนึ่งแล้ว ส่วนการศึกษาเส้นกรุงเทพฯ-พิษณุโลกของญี่ปุ่นก็ใกล้แล้วเสร็จ

++ญี่ปุ่นเสนอขยายถึงอยุธยา
โดยอีก 2 เส้นทางที่คาดว่าจะเปิดประมูลนานาชาติคือ เส้นทางภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ที่ภาครัฐเน้นให้ความสำคัญเพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบินคือ สนามบินอู่ตะเภา-สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง คาดว่าจะเปิดประมูลได้ก่อน เพราะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์สู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลกำลังเดินหน้าผลักดันในปัจจุบัน

สำหรับเส้นทางดังกล่าว ภาคเอกชนของญี่ปุ่นมีข้อเสนอให้ขยายแนวเส้นทางไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะเกิดความคุ้มค่ามากกว่าจะสิ้นสุดเพียงแค่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น อีกทั้งยังดึงดูดใจนักลงทุนของฝ่ายญี่ปุ่นได้อย่างมากอีกด้วย

++คมนาคมหนุนลงทุนเอง
“ปัจจุบันพื้นที่พระนคร ศรีอยุธยามีนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจจำนวนหลายราย ดังนั้นหากสามารถขยายเส้นทางตามที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจก็สามารถเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากโรงงานญี่ปุ่นมีซัพพลายเชนอยู่หลายพื้นที่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพซัพพลายเชนของไทยดีขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งอะไหล่ แรงงาน ได้รวดเร็ว ลดต้นทุนการขนส่งได้มากขึ้น นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย”

ทั้งนี้ในเส้นทางปัจจุบันตามผลการศึกษาสิ้นสุดที่สนามบินดอนเมือง หากจะขยายไปถึงพระนครศรีอยุธยาน่าจะสามารถกระทำได้ หากฝ่ายญี่ปุ่นเข้ามาแข่งประมูลและชนะประมูลก็สามารถกำหนดไว้ในทีโออาร์เอาไว้ว่า ขอยื่นข้อเสนอขยายเส้นทางออกไปถึงพระนครศรีอยุธยา เพียงแต่จะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง อาทิ ค่าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นกรณีเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ที่บริษัทเอกชนเสนอเงื่อนไขให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยพิจารณา เบื้องต้นพบว่ากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ไม่ได้ศึกษาสิ้นสุดเพียงแค่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น แต่ยังศึกษาเผื่อไปถึงพระนครศรี อยุธยารองรับเอาไว้ให้ด้วย

++โมเดล“โตเกียวสเตชัน”
“สถานีพระนครศรีอยุธยาจะยังใช้พื้นที่สถานีเดิมซึ่งเป็นทำเลที่ดี ใกล้แม่นํ้า ออกแบบเป็นท่าเรือเอาไว้แล้ว สามารถพัฒนาโดยใช้รูปแบบสถานีโตเกียวของญี่ปุ่นได้เลยทันที มีท่าเรือท่องเที่ยวไว้บริการ คาดว่าเมื่อจะลงมือก่อสร้างที่ดินหลายแปลงที่มีการเช่าในปัจจุบันก็จะครบกำหนดสัญญาในช่วงดังกล่าวพอดี”

ทั้งนี้ ในส่วนการศึกษาทบทวนออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงร่วมกับทางฝ่ายญี่ปุ่น ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กำหนดส่งมอบผลการศึกษาในช่วงปลายปีนี้ ขณะนี้ฝ่ายญี่ปุ่นมีความสนใจเส้นทางเชื่อม 3 สนามบินมากกว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก หรือที่จะต่อถึงเชียงใหม่ในอนาคต เพราะหากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มช่วงการเชื่อม 3 สนามบินได้อยู่ตัวแล้ว ค่อยขยายแนวเส้นทางไปยังพิษณุโลกและเชียงใหม่ในอนาคตจะสามารถทำได้ง่ายกว่า

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงความคืบหน้าของฝ่ายญี่ปุ่น ที่แสดงความสนใจลงทุนเส้นทางรถไฟกาญจนบุรี-สระแก้ว และกรุงเทพฯ-แหลมฉบังว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็กของฝ่ายญี่ปุ่น ส่วนจะก่อสร้างตามแผนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดไว้เมื่อไหร่ได้หรือไม่นั้นยังมีลุ้นผลการศึกษาของฝ่ายญี่ปุ่นในอีกไม่นานนี้

P1-3281-a ++เกาหลีจองEWEC
“เช่นเดียวกับที่สาธารณรัฐเกาหลีแสดงความสนใจลงทุนด้านการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย โดยขอมีส่วนร่วมศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันตก-ตะวันออก (EWEC) จากแม่สอด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งบางช่วงนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีแนวเส้นทางและผลการศึกษารองรับไว้แล้วเช่นกัน สามารถต่อยอดผลการศึกษาดังกล่าวได้ทันที และมีความสนใจจะเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางสายตะวันออกและสายใต้ด้วย”

++เอกชนหนุน-ค้าน

thavich

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อินดัสเทรียล เอสเตทฯ ผู้พัฒนา นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


 

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อินดัสเทรียล เอสเตทฯ ผู้พัฒนา นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการขยายไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะประโยชน์ 3 ด้าน 1.เชื่อมโยง 3 สนามบิน อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง 2.มีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่สะดวกขึ้น สำหรับประชากรในปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแรงงานรวมกว่าล้านคน และ 3.จะเกิดการเชื่อมโยง 2 ฐานการผลิต เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ที่จังหวัดระยอง สามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้สะดวกขึ้นในต้นทุนที่ตํ่าลง เมื่อเทียบกับขนส่งโดยรถยนต์ เป็นต้น

 

นิพิฐ-อรุณวงษ์-ณ-อยุธยา

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและการกรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน)


ด้านนายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและการกรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่ตั้งในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ประโยชน์จะเกิดกับการขนส่งสินค้าวัตถุดิบระหว่างโรงงานข้ามจังหวัด แต่ควรมองภาพรวมประโยชน์ประเทศ ซึ่งภาครัฐต้องชั่งนํ้าหนักว่าคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับระบบถนนไฮเวย์หรือระบบรางที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จากอีสานเข้ากรุงเทพฯ ใช้งบกว่า 3 ล้านล้านบาท มีภาระหนี้ประเทศจำนวนมาก และเงินไหลออกนอกประเทศ แต่ถ้าพัฒนาระบบรางที่มีอยู่หรือใช้ทางถนนที่ใช้แรงงานไทยได้จะคุ้มกว่าหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560