หุ้นส่วนเศรษฐกิจและข้อตกลงการค้าเสรี

25 ก.ค. 2560 | 23:56 น.
TP5-3281-a ปีนี้เป็นปีที่ครบ 10 ปี ของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย หรือ (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) และมีข่าวว่าจะมีการขอแก้ไขใน 2 เรื่องตามมาตรา 169 และ 171 ภาคธุรกิจจึงได้มีการนำเสนอกลุ่มสินค้าที่ควรจะเจรจาให้ญี่ปุ่นพิจารณาลดภาษีนำเข้าหรือเพิ่มจำนวน (โควตา) นำเข้าให้มากขึ้นในกลุ่มสินค้าประมง ผลไม้และผลไม้แปรรูป ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ขอให้ไทยลดภาษีการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปที่มีเครื่องยนต์ตํ่ากว่า 3000 ซีซี และในส่วนที่ 2 ที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันซึ่งมีถึง 8 ข้อตกลง เช่นเกษตร ป่าไม้ ประมง การศึกษาและการพัฒนามนุษย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีข้อมูลและสื่อสาร บริษัทขนาดเล็กและกลาง เป็นต้น

ทั้งนี้หากเราไปดูตัวเลขการค้าโดยรวมระหว่างญี่ปุ่นกับไทยตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าไทยยังเสียเปรียบดุลการค้าโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3-5 แสนล้านบาทต่อปี คำถามคือความตกลงหุ้นส่วนนี้เป็นประโยชน์กับการส่งออกไทยหรือไม่? คำตอบคือมีประโยชน์แต่ขึ้นอยู่กับว่าความตกลงส่วนใด เช่น ยกตัวอย่างการส่งออกเนื้อสุกรแปรรูปนั้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากญี่ปุ่นให้โควตานำเข้ามากขึ้นแต่หากเป็นเรื่องการลดภาษีอย่างเดียวก็ไม่สามารถอธิบายในแนวเดียวกันได้เพราะยังมีอุปสรรคที่ต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆหรือขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นเป็นต้น สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่น การลงทุนนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่ได้วางนโยบายที่ทันสมัย เพราะฉะนั้นสิทธิและผลประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนและจูงใจมากกว่าที่ระบุในข้อตกลงมากมาย เช่น นโยบายการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้นญี่ปุ่นคงไม่ต้องเจรจาให้ไทยทบทวนการเปิดเสรีสินค้ายานยนต์สำเร็จรูปที่มีเครื่องยนต์ตํ่ากว่า 3000 ซีซีและเปิดเสรียานยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 3000 ซีซีอีกแล้วเพราะเป็นสินค้าที่จะล้าสมัยในอีกไม่กี่ปี จะเห็นว่าแม้การลดภาษีนำเข้าระหว่างกันและการเพิ่มโควตาสินค้าบางตัวเป็นเรื่องสำคัญทั้งในข้อตกลงนี้และอื่นๆ ก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะที่สำคัญกว่าคือข้อตกลงในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับความร่วมมือต่างๆที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นเพราะกลุ่มนี้เป็นเครื่องมือที่เราและคู่สัญญาจะได้พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการรวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ ICT ซึ่งเป็นจุดเน้นของรัฐบาลชุดนี้ แต่ผมยังไม่ได้ยินว่าเราจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้กับญี่ปุ่นอย่างไร จึงเสนอให้รีบดำเนินการโดยใช้วาระครบ 10 ปีนี้ให้เป็นวันเริ่มต้นเจรจาใหม่

โดยสรุปแล้ว การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงต่างๆนั้นไม่ใช่เรื่องภาษีนำเข้าที่ลดลงเท่านั้น แต่ต้องใช้ทุกมาตรา เนื่องจากการค้าสินค้าไม่ใช่เรื่องการแข่งขันต้นทุนและราคาเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงมาตรการการนำเข้าอื่นๆ เช่น เรื่องสุขอนามัย ทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม แรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาใช้ประกอบการพิจารณาการค้าสินค้ามากขึ้น จึงขอให้พวกเราเปลี่ยนวิธีมองข้อตกลงเหล่านี้ใหม่และเน้นในการใช้ข้อตกลงเหล่านี้เพื่อพัฒนามากกว่าการค้าธรรมดา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560