ความสุขจากก้อนดิน ปั้นงานศิลป์ฝากแผ่นดิน

23 ก.ค. 2560 | 00:52 น.
“ผมทำงานด้วยพลังทางใจ ผมต้องฝึกให้มากเพื่อให้มือสามารถตอบสนองความคิดของเราให้ทัน เวลาปั้นผมจะไม่กลับมาดูงานข้างหลัง เมื่องานปั้นผิดพลาดจุดหนึ่ง ต้องแก้ไขรอบตัว วิธีการของผมคือเริ่มงานใหม่ ให้งานที่ผิดเป็นครูสอนเราไม่ให้ผิดตรงจุดนั้นอีก ผมจะทำงาน ณ จุดปัจจุบันและเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ”

“ถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้ ทำให้เหมือนโดยเทียบกับงานคนอื่นมันก็สูญ แต่ถ้าทำด้วยความรู้สึกว่ามันไม่สูญงานศิลปะก็คืองานที่ทุกคนทำได้หมด การเริ่มต้นคิดหรือเริ่มต้นทำอะไรก็ตามต้องเริ่มจากภายใน เริ่มที่ความรู้สึกของเรา เราเห็นว่าสวยของเราก็ทำไป และมุ่งมั่นเดินหน้าให้ถึงที่สุด ต่อไปงานนั้นจะเป็นเอกลักษณ์ของเรา”

MP29-3281-4 เส้นทางลัดเลาะจากถนนใหญ่ เข้ามาในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสวนผลไม้นานาพันธุ์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของจังหวัดนนทบุรีมาสู่จุดที่ GPS ระบุตำแหน่งไว้ ภาพเบื้องหน้าคือบ้านที่ปกคลุมไปด้วยสีเขียวของพรรณไม้ไทยนานาชนิด ทางเข้าที่มีเพียงแนวต้นไม้บ่งบอกอาณาเขตบนพื้นที่เกือบ 2 ไร่ คือที่ตั้งของบ้านศิลปินที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในขณะนี้ “อาจารย์ชิน ประสงค์” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านประติมากรรม หนึ่งเดียวของกรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการส่วนประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ผู้รังสรรค์ประติมากรรมคุณทองแดง และคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยงเคียงคู่พระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

ครอบครัวที่อยู่อย่างเรียบง่าย เลือกเส้นทางศิลปะเป็นหมุดนำในการดำเนินชีวิต ภาพอาจารย์ชิน และลูกชายคนโต คุณเก่ง – พิชญ์พงศ์ กำลังช่วยกันตกแต่งงานปูนปั้นรูปคุณทองแดงในโรงปั้นที่แสงจากธรรมชาติสาดส่องเข้ามากระทบวัตถุจนเกิดเป็นมิติภาพที่น่าหลงใหล นำไปสู่จุดเริ่มต้นของบทสนทนากับเรื่องราวชีวิตของลูกเกษตรกรที่เหมือนกับถูกขีดเส้นมาเพื่อถวายงานให้แผ่นดิน

“ผมเกิดมาในครอบครัวเกษตรกร พ่อกับแม่ผมเป็นชาวสวน ปลูกทุเรียน ปลูกผลไม้แถบนี้ เวลาไปทำนาทำสวนพ่อกับแม่ก็ต้องพาผมและพี่น้องอีก 4 คนไปด้วย เพราะไม่มีใครดูแลที่บ้าน การออกมานอกบ้านนี่แหล่ะที่ทำให้ผมรู้จักดิน พอเห็นดินก็รู้สึกอยากจับ อยากปั้น จำได้ว่าตอนอายุประมาณ 4-5 ขวบ ผมก็เริ่มปั้นดินเป็นครั้งแรกๆ หยิบจับจากสิ่งที่เห็นบวกจินตนาการปั้นเป็นรูปผลไม้บ้าง รูปสัตว์บ้าง เวลาที่วัดมีงานทั้งงานก่อสร้าง ลงสี ตัดกระดาษ งานบุญต่างๆ ผมก็จะไปแอบดูและจำๆ มาลองทำที่บ้าน ไม่กล้าไปทำกับเขาเพราะกลัวฝีมือเราไม่ถึง”

MP29-3281-2 ความหลงใหลและความชื่นชอบงานศิลปะแม้จะสร้างความกังวลให้กับครอบครัวจากความเชื่อว่าศิลปินไส้แห้ง เต้นกิน รำกิน จะไม่มีอะไรเลี้ยงตัว แต่ด้วยความเชื่อใจของผู้เป็นบิดาทำให้อาจารย์ชินเดินหน้าสอบเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยช่างศิลป์ เป้าหมายเดียวของชีวิตในขณะนั้น แม้อายุจะล่วงเลยมาสู่เลข 75 แต่อาจารย์ชินได้ย้อนเวลาเล่าเรื่องราวชีวิตถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอย่างตื่นเต้นว่า

“ผมจำได้ดีว่าวันประกาศผลสอบเป็นวันฝนตก กว่าผมจะนั่งเรือจากนนทบุรีมาดูผลสอบที่วิทยาลัยช่างศิลป์ก็เย็นแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เก็บป้ายประกาศไปหมดผมเลยไปถามว่าผมชื่อนี้เลขที่นี้อยู่ในรายชื่อที่สอบติดหรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็นำเอกสารมาเปิดรายชื่อหาชื่อผมไม่พบ ผมเลยทำใจว่าสอบไม่ติดก็กลับไปช่วยพ่อกับแม่ทำนาทำสวนเหมือนพี่ๆ จนผมเดินสวนกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์คนเดียวกับตอนที่ผมมาสมัครเข้าสอบ อาจารย์ทักว่าพรุ่งนี้ให้ผมเตรียมเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนให้เรียบร้อย ผมบอกอาจารย์ไปว่าผมสอบไม่ติด อาจารย์ก็ยืนยันว่าสอบติดและพาไปดูชื่อด้วยตนเองและผมก็สอบติดจริงๆ ย้อนกลับไปคิดว่าหากอาจารย์จำผมไม่ได้ จำชื่อผมไม่ได้ และไม่ได้พบอาจารย์วันนั้นคือเมื่อราว 60 กว่าปีก่อน คงไม่มีคนที่ชื่อ “ชิน ประสงค์” ที่ได้ทำงานประติมากรรมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันนี้”

MP29-3281-5 “ผมไม่เคยเห็นงานศิลปะ ไม่รู้จักด้วยว่า “งานศิลปะ” เป็นอย่างไร” เส้นทางการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากทั้งการเดินทางและการเรียนรู้ การเป็นคนที่ฝึกด้วยตนเองมาตลอด เมื่อได้เห็นงานของเพื่อนๆ ได้เห็นงานของครูบวกกับคะแนนสอบที่รั้งท้ายทำให้อาจารย์ชินเกิดความท้อ จนได้พบแนวทางงานศิลป์ที่ตรงกับเสียงเรียกร้องของจิตวิญญาณภายใน เมื่อได้ชมงานที่ชื่อว่า “กระตั้วแทงเสือ” ผลงานของอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ จนนำมาสู่การยึดเป็นแนวทางและพัฒนาฝีมือตัวเองจนเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สำเร็จ และเป็นนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกข้อสอบภาคปฏิบัติ

“ผมเลือกเรียนงานปั้นเพราะผมไม่มีเงิน งานศิลปะด้านอื่นสีมีราคาแพง ตัวเฟรมเราก็ต้องใช้เงิน แต่งานปั้นเพียงมีดินกับฝีมือ เราก็สร้างผลงานได้ ประกอบอาชีพได้”

รูปแบบการปั้นที่มีพลังสะท้อนเอกลักษณ์ความยิ่งใหญ่อย่างเด่นชัด เข้าตาอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ และคำแนะนำที่ว่า “เพราะคุณทำอะไรที่เกินความจริง งานของคุณต้องเป็นงานที่ใหญ่อย่างงานอนุสาวรีย์” นำทางสู่เส้นทางการรับราชการในส่วนงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ฝากผลงานปั้นประติมากรรมอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ไว้ทั่วแผ่นดินไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผลงานชิ้นยิ่งใหญ่อย่างการออกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และงานที่อาจารย์ชินบอกกับเราว่าเหมือนกับเป็นงานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ทดลองปั้นถวายก่อนเสด็จสวรรคตอย่าง งานปั้นประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง 12 สุนัข ตั้งแต่ปี 2553 – 2559

MP29-3281-3 พระบรมราโชวาทที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานในวันรับปริญญา ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า “ให้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือประเทศชาติอย่างเต็มความรู้ความสามารถ” คือแสงไฟส่องนำทางอาจารย์ชิน ที่มุ่งมั่นทำงานให้ดีที่สุดสร้างชีวิตให้กับเม็ดดินผลิตงานศิลป์ฝากไว้กับแผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560