ร่างพรบ.พรรคการเมืองใหม่สุดโหด ทุจริตไพรมารีโหวต“ยุบพรรค”

19 ก.ค. 2560 | 12:12 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เปิดร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองใหม่สุดโหด พบกก.บห.ทุจริตไพรมารีโหวต โทษถึงขั้นยุบพรรค ซ้ำเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วชีวิต โทษอาญาคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 แสน  “สมเจตน์”ชี้เป็นหลักการที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตย เชื่อทุกพรรคปฏิบัติได้

ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองในประเด็นไพรมารีโหวต โดยขณะนี้ตัวแทนคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ของสนช. ที่นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้ข้อสรุปร่วมกันและยกร่างประเด็นที่จะแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาในการประชุมนัดแรก ที่เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ค. ร่าพรบ.พรรคการเมือง1

สำหรับประเด็นที่ปรับแก้มี 10 ประเด็น เพื่อให้สอดคล้อง ปฏิบัติได้ ไม่มีปัญหาถูกตีความ และมีการกำหนดบทลงโทษชัดเจนหากไม่มีการปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน อาทิ แก้ไขปัญหาการคัดเลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้งไม่ทันเพราะยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง แก้ให้เป็นจังหวัดใดที่มีสมาชิกพรรคตั้งแต่ 100 คน ก็ให้เลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แต่การเลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ยึดตามเขตเลือกตั้งของจังหวัดนั้น ๆ ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศครั้งสุดท้าย และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสามารถที่จะประชุมและส่งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น

พรรคการเมืองที่จะส่งสมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้น เปลี่ยนองค์ประกอบ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งให้มีสัดส่วนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่า 4 คน เป็นมีไม่เกิน 4 คน หรือให้ใช้เท่าที่มี ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาฯ ตัดชื่อผู้สมัครแบ่งเขตที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมได้ การสมัครแบบแบ่งเขตในกรณีคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบรายชื่อผู้สมัครแบ่งเขต 2 ลำดับแรกที่สมาชิกเลือกมา ให้ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารกับคณะกรรมการสรรหาฯใช้มติ 4ใน 5 ให้ส่งผู้สมัครคนอื่นได้

ส่วนการสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ให้คณะกรรมการบริหารพรรค กรรมการบริหาร หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเสนอรายชื่อผู้สมัครได้คนละไม่เกิน 150 ชื่อ และให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อเรียงตามอักษร ไม่เกิน 150 รายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้ไม่เกิน 15 ชื่อ จากนั้นนับคะแนนและประกาศผล  และให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีเรียงตามผลรวมคะแนน กรณีหัวหน้าพรรคประสงค์สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ให้อยู่ลำดับที่ 1 คณะกรรมการบริหารพรรคใช้มติ 2 ใน 3 ของที่มีอยู่ตัดผู้สมัครออกได้ และจัดลำดับผู้สมัครที่คะแนนเท่ากันใหม่ หรือไม่ได้คะแนนใหม่ได้ ร่างพรบ.พรรคการเมือง2

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่สำคัญคือ มีการกำหนดบทลงโทษทางอาญาและทางการเมืองทั้งการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ( ใบแดง) การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือที่เรียกว่าตัดสิทธิชั่วชีวิต เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ รวมทั้งยุบพรรค กรณีหัวหน้าพรรค  คณะกรรมการบริหารพรรค  สาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่ดำเนินการเรื่องการส่งผู้สมัครให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หรือยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรือออกเสียงลงคะแนนในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งการดำเนินคดีกรณีนี้ให้ถือว่าสมาชิกพรรคทุกคนเป็นผู้เสียหาย

ส่วนหากพบว่าในขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตของพรรค ผู้ใดกระทำการให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้ใด หรือไม่ให้ไปประชุมหรือลงคะแนน เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนให้กับตนเองหรือผู้อื่น หรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้ใด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย

นอกจากนี้หากถ้าพบว่าพรรคการเมือง หรือผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นเช่นกัน ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วเป็นการกระทำของพรรค หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค นอกจากต้องรับโทษอาญาดังกล่าวแล้ว ให้ถือกรณีดังกล่าวเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในร่างแก้ไขจะกำหนดให้เอาผิดกับพรรคที่ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการขั้นตอนไพรมารีโหวตไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ก็บัญญัติว่า การดำเนินการไม่ครบถ้วนนั้นไม่มีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไป เพียงแต่ถ้า กกต.ทราบถึงการไม่ดำเนินการดังกล่าวก็ให้กล่าวโทษหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเอาผิดตามที่กฎหมายกำหนดโทษไว้

ด้านพล.อ.สมเจตน์ ซึ่งจะร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวยอมรับว่า มีการหารือเบื้องต้นกับ กรธ.แล้ว โดยจะปรับปรุงเนื้อหาในกฎหมายตามข้อท้วงติงของ กรธ.ในเรื่องของไพรมารีโหวต เพื่อให้ขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครมีความชัดเจนมากขึ้น และให้เป็นกิจการภายในของพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องดูแลรับผิดชอบกระบวนการคัดเลือกให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ครบถ้วนก็สามารถร้องไปยัง กกต.ให้ดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้ แต่ถ้าพบว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนในการทุจริตขั้นตอนการคัดเลือกดังกล่าว นอกจากมีโทษอาญาแล้วยังมีโทษยุบพรรคด้วย

“หากกระบวนการคัดเลือกไม่ชอบ หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ โดยสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งถือเป็นผู้เสียหายสามารถร้องไปที่ กกต.ได้ แต่ไม่กระทบกับการส่งชื่อผู้สมัคร แต่ถ้าได้เป็นส.ส. กกต.ก็สามารถสอบย้อนหลังเพื่อฟ้องต่อศาลได้ และถ้ามีกรรมการบริหารพรรคไปมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตการคัดเลือกดังกล่าวก็มีผลให้ยุบพรรคด้วย แต่ถ้าเป็นการทำผิดของผู้สมัครก็เป็นความผิดเฉพาะบุคคล”

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า หลังจากสนช.มีมติตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแล้ว คาดน่าจะมีการประชุมนัดแรกได้ในสัปดาห์หน้า

“เชื่อว่าการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ครั้งนี้จะไม่ทำให้เป็นอุปสรรคกับพรรคการเมืองในการปฏิบัติ จนกระทบกับการส่งผู้สมัครเพราะถ้าตั้งใจปฏิบัติก็สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นหลักการที่ดีในการพัฒนาระบบประชาธิปไตย รวมทั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคก็ต้องรอบคอบไม่เช่นนั้นก็ต้องรับผิดชอบ”พล.อ.สมเจตน์ ระบุ