บลจ.เล็กดิ้นปรับกลยุทธ์เติบโต ‘แมนูไลฟ์’เกาะแบงก์‘แอสเซทพลัส’แปลงร่างเทอมฟันด์

21 ก.ค. 2560 | 23:10 น.
บลจ.เล็กปรับแผนแข่งตลาด“แมนูไลฟ์”หันออกกองทุนเสิร์ฟลูกค้าแบงก์ประเดิม“รีทเอเชียแปซิฟิก” “แอสเซทพลัส”แปลงเทอมฟันด์AIเป็นกองเปิดดูดเงินกลับ

นายชัยเกษม วัฒนศิริพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบริหารช่องทางจัดจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย)ฯ เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับแนวทางการทำธุรกิจใหม่จากเดิมเน้นออกกองทุนหุ้น โดยหันมาร่วมมือกับธนาคารพันธมิตร เพื่อนำเสนอกองทุนที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารเป็นหลักซึ่งจะทำให้กองทุนของบริษัทเข้าถึงนักลงทุน

“การทำธุรกิจบลจ.คีย์หลักอยู่ที่ช่องทางจำหน่าย ซึ่งในไทยไม่ใช่นักลงทุนเดินมาซื้อกองทุน เราจึงต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและการแข่งขัน ดังนั้นแนวโน้มการเติบโตของบลจ.แมนูไลฟ์ฯ จะโตจากฐานลูกค้าแบงก์” นายชัยเกษมกล่าว

สำหรับธีมกองทุนที่นำเสนอเป็นประเภท Income รายได้สมํ่าเสมอ ซึ่งล่าสุดร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์นำเสนอกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ เอเชีย แปซิฟิก พร็อพเพอร์ตี้ (MN-APREIT)ลงทุนตรงในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 30 หลักทรัพย์ ยกเว้นญี่ปุ่นและไทยโดยมีบลจ.แมนูไลฟ์ สิงคโปร์บริหารกองทุน เปิดขายครั้งแรกวันที่ 24 กรกฎาคม-2 สิงหาคมนี้

“ปัจจุบันรีทในตลาดเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงกว่าสหรัฐฯและญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6-6.0% ต่อปีและราคาอยู่ในระดับที่น่าสนใจกว่า แม้เทียบรีทและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยแล้วจะตํ่ากว่า1% แต่โอกาสในการปรับขึ้นของราคาหน่วยไทยน้อยกว่า เพราะสภาพคล่องน้อยต่างจากรีทเอเชียสภาพคล่องสูงและแนวโน้มฟันด์โฟลว์ไหลเข้าปลายปีจะเป็นผลดีมีเงินเข้าลงทุน”นายชัยเกษม กล่าว

[caption id="attachment_181161" align="aligncenter" width="503"] บลจ.เล็กดิ้นปรับกลยุทธ์เติบโต ‘แมนูไลฟ์’เกาะแบงก์‘แอสเซทพลัส’แปลงร่างเทอมฟันด์ บลจ.เล็กดิ้นปรับกลยุทธ์เติบโต ‘แมนูไลฟ์’เกาะแบงก์‘แอสเซทพลัส’แปลงร่างเทอมฟันด์[/caption]

ปัจจุบันบริษัทมีธนาคารพันธมิตรในการนำกองทุนบริษัทเสนอขายลูกค้าได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยพาณิชย์และเตรียมเซ็นสัญญากับธนาคารอีกแห่ง โดยที่ผ่านมากองทุนที่ได้รับความนิยมเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ ปัจจุบันยอดขายผ่านธนาคาร 75% ส่วนใหญ่มาจากซิตี้แบงก์ขณะที่ธนาคารไทยยังน้อยส่วนบริษัทหลักทรัพย์15%และผ่านบริษัท 10%

นายรัชต์โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส จก.เปิดเผยว่าบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การนำเสนอกองทุนรวมให้แก่ลูกค้าใหม่ หลังจากกองทุนเทอมฟันด์ที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนรายใหญ่(กอง AI) ได้รับผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงิน (บี/อี)ในปีที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนเทอมฟันด์มาออกกองทุนเปิดตราสารหนี้ซื้อขายได้ทุกวันทำการและกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศบริหารเชิงรุก

ในส่วนของหนี้ตั๋วบี/อีบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ IFEC บริษัทยังติดตามอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย

“ตั้งแต่ต้นปีกอง AI ไม่ได้ลงทุนนอนเรตและเปลี่ยนเทอมฟันด์มาเป็นกองทุนเปิดแอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย(ASP-DPLUS)เน้นตราสารหนี้ระยะสั้น ผลตอบแทนกว่า 2%และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้ต่างประเทศพลัสห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย(ASP-FFPLUS)เน้นตราสารหนี้ระยะสั้นและกลาง ผลตอบแทน 4% ต่อปีเมื่อเทียบกองทุน AIเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ทำให้มูลค่าสินทรัพย์(AUM) ค่อยๆ เพิ่มขึ้น”นายรัชต์ กล่าว
สำหรับสัดส่วนกองทุน AI หลังปรับกลยุทธ์มีเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมมีมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบัน (AUM) อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาทและสิ้นปีนี้คาดว่าจะแตะ 5 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560