รูดปรื๊ดระอุ ศึกชิงลูกค้า

10 ก.ค. 2560 | 10:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แบงก์-นอนแบงก์ จ่อเปิดศึกสงครามชิงลูกค้าบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล หลังแบงก์ชาติเตรียมออกเกณฑ์คุมเข้ม ชี้แบงก์กลาง-เล็กเหนื่อย พร้อมปรับกลยุทธ์หาตลาดอื่นชดเชยรายได้ดอกเบี้ย

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เตรียมประกาศเกณฑ์ใหม่ควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยคาดว่า จะเพิ่มรายได้ของผู้ถือบัตรเบื้องต้น ลดวงเงินผู้ถือบัตร และลดจำนวนใบที่ถือไม่ให้เกิน 3 แห่ง กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิต ที่มีมูลค่าใช้จ่ายล่าสุดกว่า 1.3 แสนล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลกว่า 3.5 แสนล้านบาท

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เกณฑ์การกำกับดูแลที่จะออกมาควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลดลงจากเดิมที่อยู่ 20% ลงมาเหลือ 18% และการจำกัดวงเงิน-คุมการใช้สถาบันการเงิน แต่เชื่อว่าธุรกิจมีแผนรองรับในการปรับตัวแล้วพอสมควร

“เคทีซีก็มีแผนรองรับไว้แล้ว ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่ลูกค้าใหม่ที่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ตํ่ากว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ต้องยอมรับว่าการหาลูกค้าใหม่จะทำงานยากขึ้น อาจจะเห็นลูก ค้ากลุ่มใหม่ขยายตัวช้าลงจากเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของสินเชื่อ จะชะลอตัว แต่คุณภาพสินทรัพย์หรือคุณภาพสินเชื่อจะดีขึ้น”

[caption id="attachment_176784" align="aligncenter" width="503"] รูดปรื๊ดระอุ ศึกชิงลูกค้า รูดปรื๊ดระอุ ศึกชิงลูกค้า[/caption]

ขณะที่ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 2% อาจจะทำให้ทุกคนต้องหันมาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับเคทีซีที่ต้องหันมาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งบริษัททำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ลดลงมาอยู่ในระดับ 39-40% ถือว่าเป็นระดับที่ดี

นายแดน ฮาร์โซโน่ ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูก ค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า หากหลักเกณฑ์ดังกล่าวออกมาบังคับใช้ ประเมินในระยะสั้นมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจภาพรวม เนื่องจากเดิมธนาคารอนุมัติวงเงินให้ลูกค้าได้ 5 เท่า แต่หลักเกณฑ์ใหม่จะเหลือเพียง 1.5 เท่า และมีการจำกัดสถาบันการเงินได้เพียง 3 แห่งเท่านั้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็กและกลางที่จะต้องแข่งขันเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ก่อน

ขณะที่ลูกค้าอาจจะคิดไตร่ตรองเพิ่มขึ้นในการเลือกใช้บริการธนาคารใด เพราะจากเดิมสามารถใช้บริการสถาบันการเงินได้ไม่จำกัดจำนวนแห่ง ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างปรับแผนธุรกิจในส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยจาก 20% เหลือ 18% ซึ่งคาดว่าดอกเบี้ยที่ลดลงหรือหายไป 2% จะเห็นสถาบันการเงินทุกแห่งได้รับผลกระทบจากส่วนนี้ และต้องหาแผนมารองรับรายได้ที่หายไป

“เราต้องบริหารจัดการต้นทุน หรือการหารายได้จากส่วนอื่นมาช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป แต่จะไม่กระทบฐานลูกค้า ที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือนค่อนข้างมาก”

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์)ฯ กล่าวว่า หากประเมินเบื้องต้นเชื่อว่าการหาลูกค้าใหม่จะทำได้ยากขึ้น จะทำให้เกิดสง ครามการแย่งชิงลูกค้าใหม่ในตลาดรุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็กและขนาดกลาง เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนสถาบันการเงินไว้ 3 แห่ง วงเงินรวมไม่เกิน 4.5 เท่าของรายได้ ดังนั้นหากสถาบันการเงินรายใดเข้าถึงลูกค้าช้ากว่าเป็นรายที่ 4 ก็อาจจะพลาดโอกาสที่จะได้ลูกค้า สะท้อนไปยังอัตราการเติบโตของสินเชื่อได้

“เกณฑ์ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล จะทำให้สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ หันมาแย่งชิงลูกค้าใหม่เร็วยิ่งขึ้นและยังต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้”

อิออน ยังไม่ได้มีนโยบายการปรับรายได้ขั้นตํ่าของลูกค้าใหม่แต่อย่างใด โดยลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลรายได้ขั้นตํ่ายังคงอยู่ที่ 8,000 บาทต่อเดือน และสินเชื่อบัตรเครดิตรายได้ขั้นตํ่าอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เกณฑ์ใหม่มีผลกระทบต่อรายได้ที่มาจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อันดับ 1 หรือ 2 ของธนาคารพาณิชย์ โดยคิดเป็นรายได้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีวิธีหารายได้อย่างอื่นมาชดเชยกับรายได้ส่วนนี้ที่สูญเสียไปได้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวว่า บริษัทคงประมาณการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 7% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 1% แม้จะมีมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของทางการ

เนื่องจากอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในปีนี้ แต่ก็คงมีผลจำกัดการเติบโตในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม และรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อประเมินผลกระทบอีกครั้ง

ราคาหุ้น KTC และ อิออน ในรอบสัปดาห์ที่แล้วร่วงรับข่าว โดย KTC ราคาปิดวันศุกร์ที่ 106 บาท ลดลง 2 บาท ส่วน AEONTS ปิดที่ 106 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ข้อมูลจากธปท. เดือนเมษายน 2560 ระบุจำนวนบัญชีบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 19.63 ล้านบัญชี แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 9.56 ล้านบัญชี บริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จำนวน 10.06 ล้านบัญชี โดยมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 3.38 แสนล้านบาท แยกเป็นธนาคารพาณิชย์ 2.06 แสนล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1.32 แสนล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล มีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 12.28 ล้านบัญชี แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 2.43 ล้านบัญชี และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 9.84 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 3.32 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 1.53 แสนล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1.79 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560