ทางออกนอกตำรา : ถึงเวลาเคลียร์ รันเวย์คิงเพาเวอร์

08 ก.ค. 2560 | 10:50 น.
2546879

ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 
 
ถึงเวลาเคลียร์ รันเวย์คิงเพาเวอร์ 

ต้องชื่นชม นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อไต่สวนมูลฟ้องและออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และพวก รวม 18 ราย ในข้อหาร่วมกระทำผิดกฎหมายและข้อสัญญาที่ก่อหรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับผลประโยชน์เกินกว่าที่สัญญาระบุไว้ ในความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ, เป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบฯ จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายฯ    

maxresdefault

เพราะนั่นเท่ากับว่า เป็นการยกปัญหาหรือข้อกังขาในความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี ในสนามบินสุวรรณภูมิ ของบริษัท คิงเพาเวอร์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ไม่ว่าศาลจะพิจารณาออกมาอย่างหนึ่งอย่างใด ทุกอย่างจะได้เคลียร์…

ในระหว่างทางอาจมีหลายประเด็นที่คิงเพาเวอร์และคนในตระกูล “ศรีวัฒนประภา” จะต้องชี้แจงข้อมูลต่อศาล แต่ในปลายทางแล้ว น่าจะส่งผลดีต่อบริษัท ทอท. และบริษัท คิงเพาเวอร์ ที่โดนมรสุมในเรื่องการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจดิวตี้ฟรีมายาวนาน

lei5
ไม่เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการบริษัท ทอท.รวม 14 คน เอกชนในกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ 3 บริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจ 1 คนเท่านั้น ที่จะต้องมาให้การกับศาล ในเรื่องการอนุมัติให้ลดอัตราการเก็บรายได้เข้ารัฐจาก 15% ของยอดการขายสินค้าหรือบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่คณะกรรมการอนุมัติให้เก็บเพียง 3% จนทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐมูลค่า 14,290 ล้านบาท จะได้เคลียร์ว่า คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการหรือไม่อย่างไรเท่านั้น

หากแต่เรื่องการทำสัญญาอนุญาตให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค ตามสัญญา ที่ ทสภ.1-07/2547 มีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และมีการขยายอายุสัญญา 2 ครั้ง รวม 4 ปี ไปสิ้นสุดอายุสัญญาปี 2563 ที่มีข้อกังขาว่าการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้งหลังอาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535  เพราะไม่ได้ดำเนินกระบวนการตามแบบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ก็จะเกิดความกระจ่าง

Suvarnabhumi-Airport

เรื่องนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า โครงการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่มีการจัดทำรายงานและผลการศึกษามูลค่าโครงการให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้ไม่ปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน

ทั้งๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าในการพิจารณามูลค่า ให้ใช้มูลค่าสินค้าคงคลังที่จัดเก็บไว้ในสต๊อก 3-4 เดือน มาคำนวณหามูลค่าโครงการลงทุน แต่กลับมีการใช้สินค้าคงคลังในสต๊อกเพียง 1 เดือน มาคำนวณ

นอกจากนี้ ในการคิดมูลค่าโครงการลงทุนใช้สมมติฐานการดำเนินงานเพียง 5 ปี และใช้พื้นที่ประกอบกิจการ 5,000 ตารางเมตร ทั้งที่ตามสัญญาจริงกำหนดระยะเวลาในจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 10 ปี ใช้พื้นที่จริงกว่า 11,820 ตารางเมตร  เรื่องนี้ก็คงจะมีข้อมูลออกมาในชั้นศาล

PNSOC570409001022001_10042014_100955

ในเรื่องนี้นั้นทาง ทอท.เคยมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาพื้นที่ที่เกินไป 5,000 ตารางเมตรไปรอบหนึ่งเมื่อ 9 ปีก่อน ตอนนั้นผมจำได้ว่า นายสมบัตร เตชาพานิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงเพาเวอร์ ในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ต่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรียกทรัพย์คืนมูลค่า 20,878 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อย 7.5 ต่อปี กรณีที่ ทอท.ได้มีหนังสือถึง คิงเพาเวอร์ ขอเลิกสัญญาในการให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร ดำเนินกิจการขายสินค้าปลอดภาษี โดยอ้างว่า สัญญาตกเป็นโมฆะเนื่องจากโครงการขายสินค้าปลอดภาษีภายในสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินภูเก็ต-สนามบินหาดใหญ่ ที่ คิงเพาเวอร์ ได้เข้าทำสัญญานั้น เป็นโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท แต่โครงการของโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ในคดีหมายเลขดำที่ 2440 /2550

แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีการเคลียร์ในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่า ในการต่อสู้กันในชั้นศาลนั้น เราคงเห็นชุดข้อมูลที่มีการซ่อนไว้ในสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนรายนี้ ที่หลายคนอาจตกตะลึงก็เป็นไปได้ อาทิเช่น...

bLL8Eq6itQ

1.เรื่องราวของการ จ่ายเงินบางประการที่อาจนำมาซึ่ง “แม่แบบ” ให้กับผู้ประกอบการอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการหลบหลีกกฎหมายร่วมทุน เพราะในการประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้สิทธินั้น ทีโออาร์กำหนดพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร แต่บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ได้เสนอใช้พื้นที่รวม 25,687 ตารางเมตร โดยเสนอค่าตอบแทนให้รัฐ 1,431 ล้านบาท ซึ่งเสนอใช้พื้นที่เกินกว่าที่กำหนด 5,687 ตารางเมตร ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด สามารถคิดค่าตอบแทนขั้นต่ำในปีแรกสูงกว่าผู้เสนอราคารายอื่น ที่คิดค่าตอบแทนภายใต้การใช้พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ตาม TOR และต่อมาบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. เพิ่มเติม อีก 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,431 ล้านบาท    แต่กลับมีการตีความว่า เงิน 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่เงินเพิ่มเติม จากวงเงินประมูล 1,431 ล้านบาท แต่เป็นเงินล่วงหน้าที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ต้องวางเอาไว้ และหักกับผลประโยชน์ตอบแทนในการประกันรายได้ขั้นต่ำในปีแรก

14092303911409230407l

2.เรื่องการไม่ติดตั้ง Point Of Sale: POS และเชื่อมต่อข้อมูลการซื้อขายระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งกำหนดไว้เป็นสาระสำคัญในสัญญา เพื่อใช้คิดส่วนแบ่งที่ ทอท. จะได้รับตามสัญญา แต่นับตั้งแต่เริ่มสัญญาการเชื่อมต่อยังไม่ได้ดำเนินการ กลับคิดส่วนแบ่งจากยอดรายได้จากข้อมูลที่บริษัทแจ้งเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจจะไม่ครบถ้วนตามสัญญา     จนมีการเทียบเคียงกับงบการเงินของบริษัทคิงเพาเวอร์แล้ว มีการประเมินว่า ทอท. อาจขาดรายได้จากส่วนแบ่งร้านค้าปลอดอากรในสนามบินไปกว่า 20,000 ล้านบาท

212

3.เรื่องการไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ที่ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง ซอยรางน้ำ ถนนกิ่งแก้ว และพัทยา ของบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งได้เช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อทำเป็นจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) อยู่ในพื้นที่ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ซึ่งตกประมาณ 15% ของยอดขาย

สัญญาสัมปทานที่ซุกใต้พรมไว้ จะมีการเผยโฉมออกมาแน่นอนในชั้นการพิจารณาของศาล โปรดติดตามด้วยความระทึกในฤทัย
เพราะพยานที่โจทก์ขอให้นำสืบร่วม 83 รายนั้น แต่ละรายไม่ธรรมดา...ขอบอก

kingpower12
 คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3277 ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค.2560

E-BOOK แดง