โหวต177เสียงพ.ร.ก.จ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสนช.ฉลุย

06 ก.ค. 2560 | 11:38 น.
สนช.มีมติ 177 เสียงอนุมัติพ.ร.ก.การจ้างแรงงานต่างด้าว เป็น แนะอำนวยความสะดวกขึ้นทะเบียน นำเทคโนโลยีมาใช้ สกัดการทุจริตรีดไถ อธิบดีกรมจัดหางาน ย้ำค่าใช้จ่ายรวมไม่เกิน 1,500 บาท พบเจ้าหน้าที่ทุจริตดำเนินการเฉียบขาดจริงจัง

วันนี้(6 กรกฎาคม 2560) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมพิจารณา พ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง อนุมัติพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560  ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 มิถุนายน 2560 และมีผลบังคับใช้วันถัดไป

[caption id="attachment_175713" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีแรงงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีแรงงาน[/caption]

หลังจากพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีแรงงาน อภิปรายชี้แจง หลักการและเหตุผลของการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ สืบเนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ทั้งพ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว 2551 พ.ร.บ.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ 2559 ไม่สอดคล้องครอบคลุมการทำงานต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันปัญหาแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน จะส่งผลกระทบความมั่นคงเศรษฐกิจสังคม อีกทั้งการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ คำนึงถึงประโยชน์ของความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และทำให้การแก้ปัญหาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นสมาชิกสนช.ผลัดกันขึ้นอภิปราย ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. แต่เสนอให้ปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินการขึ้นทะเบียนให้รวดเร็ว และไม่ให้มีปัญหาเรียกรับผลประโยชน์ โดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สนช.กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวจำเป็นสำหรับไทย ตั้งแต่ 20 ปีผ่านมา ขณะที่ปัญหาคือการขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนซึ่งต่อมาคสช.รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และออกมาตรา 44 มาชะลอการบังคับใช้ใน 4 มาตรา ซึ่งช่วยหยุดการตื่นตระหนก

ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ดังนั้น จะต้องอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ต้น และจะทำให้การค้ามนุษย์หายไป รวมทั้งจะต้องรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับแต่งในการออกกฎกระทรวงข้อบังคับต่อจากนี้ ปิดทางไม่ให้เกิดการตั้งด่านรีดไถ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี สนช.กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรงงาน จากปัจจุบันมีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 1.3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขณะที่แรงงานจำนวนมากเกือบ 3 ล้านคน อยู่ในอุตสาหกรรมเล็กรองลงมา การจะนำแรงงานนี้เข้าสู่ระบบเรื่องสำคัญคือการอำนวยความสะดวก จากประสบการณ์ ขึ้นทะเบียน 1 วันเต็มๆ ได้เพียงแค่บัตรคิวซึ่งเป็นปัญหา ทั้งนี้ แรงงานส่วนนี้จะเข้ามาทำงานแทนคนไทยที่ขาดไป เสริมให้เศรษฐกิจแข็งแรง การแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียน คือการอำนวยความสะดวก ทั้งการเอาเทคโนโลยีมาใช้ หรือใช้เอาท์ซอร์ส ให้เอกชนเข้ามาทำงานซึ่งเชื่อว่าจะทำได้ดี โดยให้มองแรงงานเหล่านี้เป็นลูกค้า อย่ามองว่าเป็นผู้สร้างปัญหา

ด้าน นายวรานนท์ ปีตินันท์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เวลานี้ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องทั้งเพิ่มจำนวนศูนย์ และจัดหาเจ้าหน้าที่มาดำเนินการเพื่อให้ระยะเวลาการดำเนินการไม่นานเกินไป รวมทั้งประสานกับประเทศพม่า กัมพูชา ลาว เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดกับมาตรการที่ออกมา ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน สำหรับการพิสูจน์สัญชาติ สำหรับใช้ในประเทศไทย มีอายุ 4 ปี เพื่อให้แรงงานต่างด้าวนำไปขอวีซ่ากับ ตม.เพื่อมาขอใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน ขณะที่ขั้นตอนการตรวจโรคจะต้องไปตรวจกับทางโรงพยาบาลรัฐ เพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยค่าใช้จ่าย ธรรมเนียมทั้งหมดรวม 1,500 บาท ไม่ใช่เสียหลายๆ หมื่น อย่างที่กังวลกัน

"สำหรับข้อเสนอต่างๆ นั้น จะรับไปพิจารณา เช่น การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้นั้น ก่อนสิ้นปีจะได้เห็นเวอร์ชวลเวอร์คเพอร์มิทสำหรับแรงงานที่มีสมาร์ทโฟน ที่จะอำนวยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับบัญชาจากรัฐมนตรี เรื่องป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุจริต ซึ่งได้ย้ำไปยังเจ้าหน้าที่แล้ว หากพบการทุจริตก็จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดจริงจัง" นายวรานนท์ กล่าว