ชิงไห่อยู่ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100%

08 ก.ค. 2560 | 09:00 น.
ใครว่าพลังงานหมุนเวียนยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ปริมาณพลังงานยังขึ้นกับฟ้าฝน และสภาพอากาศ เห็นทีต้องดูกรณีของมณฑลชิงไห่ ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ชิงไห่ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศจีน ได้ประกาศความสำเร็จของการหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน โดยในที่นี้ครอบคลุมถึงพลังงานแสงแดด พลังงานลม และพลังงานนํ้า ในการผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ตลอดทั้ง 1 สัปดาห์ โดยไม่ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเลย เรียกว่าทุกภาคส่วน ของการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจสามารถอยู่ ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ตลอด 7 วัน

[caption id="attachment_174264" align="aligncenter" width="503"] ชิงไห่อยู่ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ชิงไห่อยู่ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100%[/caption]

มณฑลชิงไห่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวข้างต้นรวมๆ กันคิดเป็นปริมาณเทียบเท่ากับการใช้ถ่านหินในการผลิตถึง 535,000 ตัน บริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศจีนได้ทดสอบการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนที่มณฑลชิงไห่ในระหว่างวันที่ 17-23 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ว่า เชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งสร้างมลภาวะทางอากาศมากกว่าพลังงานหมุนเวียนนั้น อาจไม่ใช่องค์ประกอบที่จำเป็นของการใช้พลังงานในอนาคตของมนุษยชาติอีกต่อไป ทั้งนี้ ในการทดสอบดังกล่าว พลังงานส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 72.3% เป็นพลังนํ้า นอกนั้นราวๆ 27.7% เป็นพลังงานแสงแดดและพลังงานลมรวมกัน

ข่าวระบุว่า ภายในช่วง 1 สัปดาห์ของการทดสอบ ประชาชนในมณฑลชิงไห่มีการใช้ไฟฟ้ารวมกัน 1,100 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) แหล่งที่มาของกระแสไฟฟ้าพลังนํ้าจำนวนมหาศาลมาจากสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าที่เขื่อน Laxiwa ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าปีละ 10,200 ล้าน kWh และสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าโซลาร์ปาร์คจากเขื่อน Longyangxia ที่เพิ่งทำลายสถิติเป็นโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้มณฑลชิงไห่ เป็นหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จด้านการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนของจีน

[caption id="attachment_174263" align="aligncenter" width="494"] ชิงไห่อยู่ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ชิงไห่อยู่ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100%[/caption]

สถิติชี้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของชิงไห่มีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 23.4 ล้านกิโลวัตต์ (kW) ในจำนวนนี้เป็นพลังงานหมุนเวียน 82.8% และทางการก็ยังมีแผนจะขยายปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง เช่น เป้าหมายเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและแสงแดดเป็น 35 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี 2020 และเป้าหมายจ่ายกระแสไฟที่เกิดจากพลังงานสะอาดให้ครัวเรือนในภาคกลางและภาคตะวันออกของจีน ปีละ 110,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยทางรัฐบาลจะใช้งบลงทุนประมาณ 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาพลังงานหมุนเวียนในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งผลจากการลงทุนนี้จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 13 ล้านตำแหน่งงานด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560