เปิดแผนสหพัฒน์ 4.0 ชูดิจิตอลขับเคลื่อนธุรกิจเพิ่มช่องทางสร้างเม็ดเงิน

05 ก.ค. 2560 | 05:57 น.
เครือสหพัฒน์ยุค 4.0 ชูโลกดิจิตอลขับเคลื่อนธุรกิจ 3 แสนล้าน จับมือพาร์ตเนอร์ใน-นอกประเทศขยายโอกาส ต่อยอดช่องทางสร้างรายได้

นอกงานจะจัดงานสหกรุ๊ป แฟร์ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำสินค้าในเครือมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในราคาพิเศษ ซึ่งแต่ละครั้งมีผู้คนแห่เข้าเลือกซื้อสินค้ากว่า 1 ล้านคนและมีเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท ในงานนี้ยังเป็นเวทีในการเปิดตัวความร่วมมือระหว่างบริษัทเครือสหพัฒน์และพันธมิตรทางธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ถือเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในประเทศ

โดยนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า เป็นประเพณีที่เครือสหพัฒน์จะใช้เวทีงานสหกรุ๊ป แฟร์ประกาศความร่วมมือ ความเคลื่อนไหวการลงทุนต่างๆกับพันธมิตรทั้งนักธุรกิจไทยและต่างชาติ โดยในงานสหกรุ๊ป แฟร์ครั้งที่ 21 นี้ก็เช่นกัน จะเห็นความร่วมมือทางภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เพื่อนำสินค้าเครือสหพัฒน์เข้าไปจัดจำหน่าย ซึ่งก่อนหน้าได้เริ่มทดลองนำสินค้าไปจัดจำหน่ายบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2557 การร่วมมือกันครั้งนี้ บริษัทต้องการความรวดเร็วและประสบความสำเร็จกับการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และต้องการให้บริษัททั้งหมดในเครือผลิตสินค้าเข้าไปจำหน่ายด้วย รวมถึงการต่อยอดจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศจีน เนื่องจากลาซาด้ามีเครือข่ายทั่วโลก

ทั้งนี้บริษัทได้วางเป้าหมายยอดขายจากช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ ภายในระยะ 3 ปี มีไม่ต่ำกว่า 10% หรือมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากช่องทางออฟไลน์ต่างๆ เพราะรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะในอนาคตเชื่อว่าผู้บริโภคที่เกิดตั้งแต่ยุคปี 2000 เป็นต้นไป จะมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มากขึ้น คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเป็น 50%

"การทำตลาดอีคอมเมิร์ซให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่การเปิดเว็บไซต์ขายของเท่านั้น แต่ต้องทำทั้งระบบทั้งมีสินค้าถูกใจผู้บริโภค ระบบการจัดส่งที่รวดเร็ว การมีคลังสินค้า ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นระบบ และมีบิ๊กดาต้าเพื่อบริหารจัดการให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจ ที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ได้ทำตลาดออนไลน์มาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ถือว่าเป็นการลองผิดลองถูก ซึ่งการร่วมมือกับลาซาด้าจะช่วยทำให้ประสบความเร็จได้เร็ว และส่วนหนึ่งทางเครือสหพัฒน์จะลงทุนสร้างระบบลอจิสติกส์เองด้วย"

ขณะที่แนวโน้มกำลังซื้อปัจจุบัน นายบุณยสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังจะดีขึ้นเปรียบเสมือนกำลังเดินอยู่ปลายอุโมงค์ ที่เห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ เชื่อว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงเดือนตุลาคมไปแล้วน่าจะดีขึ้น

MP40-3275-1 ล่าสุด เครือสหพัฒน์ยังได้จัดทำโครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอาคารคลังสินค้า บนเนื้อที่ 47 ไร่ ประกอบด้วยอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่และสำนักงานให้เช่า ขนาดพื้นที่ 6.5 หมื่นตารางเมตร ใช้งบลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท โดยเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ PALTAC Corperation จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์ 60%

ขณะเดียวกันบริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ SUN108vending ในเครือสหพัฒน์ ยังได้มีความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และอาลีเพย์ พัฒนาตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติให้สามารถรับชำระเงินได้ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ของอาลีเพย์ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยด้วย โดยนายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด กล่าวว่า บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการให้บริการใหม่ๆ มาโดยตลอด เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค จึงร่วมกับพันธมิตรพัฒนาตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่สามารถซื้อสินค้าได้เพียงใช้แอปพลิเคชันอาลีเพย์สแกนคิวอาร์โค้ดที่ปรากฎบนหน้าตู้สินค้า โดยปัจจุบันตู้สินค้าที่รับชำระด้วยอาลีเพย์ได้มีจำนวน 24 เครื่อง กระจายติดตั้งในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 9 เซ็นทรัล เวสต์เกต เซ็นทรัล ศาลายา และเซ็นทรัล พัทยา ซึ่งระยะต่อไปตั้งเป้าจะติดตั้งเพิ่มเป็น 500 เครื่องภายใน 2 ปี

ด้านนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาระหว่างเครือสหพัฒน์กับมหาวิทยาลัยเนชั่น เนื่องจากต้องการสร้างสรรค์สร้างคนดี สินค้าดี สังคมดี ตามนโยบายของบริษัทที่สอดคล้องกับปรัชญาของเครือสหพัฒน์ จากที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมร่วมสนับสนุนในแวดวงการศึกษาหลายด้าน อาทิ การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวาเซดะ จัดตั้งโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นสำหรับคนทำงานและต้องการศึกษาต่อ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาการศึกษาด้านแฟชั่นโดยร่วมมือกับ Bunka Fashion Collge ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งสถาบันบุนกะแฟชั่นในประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนแต่งหน้าเอ็มทีไอ โรงเรียนการบินศรีราชา และจัดตั้งโครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์ ซึ่งการเข้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเนชั่นในครั้งนี้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและเพิ่มศักยภาพของนักศึกษา

สำหรับธุรกิจที่ใช้เวทีสหกรุ๊ป แฟร์ ครั้งนี้เปิดแผนธุรกิจใหม่ ยังมีเครื่องสำอางแบรนด์ชีเน่ (SHEENe) โดยบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปิดตัวการขยายการลงทุนในรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ ภายใต้แนวคิดสถานีความงามเคลื่อนที่ " SHEENe Mobile Beauty" 4 รูปแบบ 1. การลงทุนแบบเต็มรูปแบบ สำหรับขนาดพื้นที่ 3 x 5 เมตร 2. การลงทุนแบบขนาดกลาง เหมาะสำหรับขนาดพื้นที่ 3 x 3 เมตร 3. การลงทุนแบบขนาดเล็ก สำหรับพื้นที่ขนาด 2 x 2 เมตร และ 4. การลงทุนแบบขนาดจิ๋ว ขนาดพื้นที่ 1 x 1 เมตร

ด้านบริษัท เอราวัณสิ่งทอ จำกัด ได้ร่วมกับบริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวนวัตกรรมเส้นใยที่ใช้เทคโนโลยีนาโนซิงค์ เพื่อผลิตสิ่งทอที่มีคุณสมบัติในการกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันรังสียูวี ระบายความชื้น ดูดซับเหงื่อ

นอกจากนี้ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ยังได้แต่งตั้ง GUANGZHOU KOREASSIA BIOTECHNOLOGY CO.,LTD. ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางแบรด์เพียว แคร์ บาย บีเอสซี และผลิตภัณฑ์เด็กแบรนด์อองฟองท์ ไปจำหน่ายในช่องทางร้านค้าภายในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560