2 ประธานาธิบดี

24 มิ.ย. 2560 | 23:55 น.
TP8-3273-A ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่มีผลกระทบกับการค้าและการลงทุนอย่างน้อย3 เรื่องคือ 1) การยกเลิกการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPP) แต่กลุ่มประเทศสมาชิกที่เหลือก็ยังไม่ได้ยกเลิกความพยายามที่จะให้มีข้อตกลงนี้ต่อไป 2) เรื่องถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ( Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งสร้างความแตกแยกในประเทศเพราะมีอย่างน้อย 13 รัฐ ออกมาประกาศสนับสนุนข้อตกลงนี้และจะดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลกออกมายืนยันว่าจะสนับสนุนข้อตกลงนี้ต่อไป 3) ประกาศยกเลิกมาตรการบางอย่างในเรื่องการลงทุน การค้าและการเดินทางของคนอเมริกันกับประเทศคิวบา

ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร? การถอนตัวออกจาก TPP ของสหรัฐฯไม่มีผลกระทบกับเราในขณะนี้เนื่องจากเราไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วยแต่สิ่งที่ต้องติดตามคือประเทศที่เหลือที่มีข้อตกลงกับเราเช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน เปรู ชิลี ทั้งที่อยู่ในข้อตกลง 2 ฝ่ายและหลายฝ่ายภายใต้ ASEAN จะดำเนินการต่อไปอย่างไรโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาในกรอบความตกลง “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียนหรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)” ที่สลับซับซ้อนอยู่แล้ว หรือจะเพิ่มประเทศที่ไม่ได้อยู่ใน RCEP เข้าไปเสียเลยจะดีกว่าหรือไม่(คือรวมประเทศ แคนาดาเม็กซิโก ชิลี และเปรู เข้าไปใน RCEP)

สำหรับเรื่องความตกลงปารีสนั้นผมเห็นว่าผู้ที่ถูกกระทบคือตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯในทางการเมืองระหว่างประเทศโดยการสละความเป็นผู้นำในข้อตกลงนี้และเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาแทนที่ นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังจะได้รับผลกระทบทางการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตเพราะเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าของประเทศต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปจากการเน้นเรื่องการแข่งขันกันทางด้านราคาเป็นการแข่งขันกันด้านการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งผู้ประกอบการของสหรัฐฯก็ต้องปฏิบัติตามโดยปริยาย การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องนี้จึงมีแต่เสียกับเสียเท่านั้น

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่เกี่ยวกับคิวบานั้นผมวิเคราะห์ว่ากระทบกับผู้ประกอบการสหรัฐฯในด้านการท่องเที่ยวและบริการเช่นโรงแรม แต่ที่น่าศึกษาคือเหตุผลของทรัมป์ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ก็คือไม่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการที่ไม่โปร่งใสที่ยังมีการกักขังนักโทษทางการเมืองและธุรกิจยังอยู่ในมือของรัฐ(รัฐวิสาหกิจ)ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมมาก่อนทั้งสิ้น ประเด็นสุดท้ายที่น่าติดตามคือประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศเชิญประชาชนทั่วโลกที่มีความสามารถเข้าไปทำงานในประเทศซึ่งอาจจะกระทบกับหลายประเทศรวมทั้งไทยอย่างแน่นอน

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นกันอีกครั้งว่าการพัฒนาในแนวทางที่ตรงประเด็นนั้นจะต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของโลกไปพร้อมๆกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560