แอคคอร์ฯต่อยอดธุรกิจใหม่เปิดโรงแรมในไทยอีก21แห่ง

24 มิ.ย. 2560 | 07:00 น.
แอคคอร์ โฮเทล จัดทัพโครงสร้างบริหารธุรกิจใหม่ โฟกัส 3 ธุรกิจ โดยเน้นขยายการรับบริหารโรงแรมต่อเนื่อง เฉพาะในไทยเตรียมเปิดอีก 21 แห่งในช่วง 3 ปีนี้ รวมถึงเปิดโมเดลต่อ ยอดรายได้ ด้วยการไปลงทุนซื้อธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจเช่าบ้านพักตากอากาศหรู เว็บไซต์ ให้บริการช่วยเหลือ จอห์น พอล

การดำเนินธุรกิจของเชนแอคคอร์ โฮเทล ปัจจุบันไม่เพียงมุ่งขยายการรับบริหารโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อสนองไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ รวมถึงการซื้อแบรนด์โรงแรม ในเครือเอฟอาร์เอชไอ (เจ้าของแบรนด์โรงแรมหรู ราฟเฟิลส์, แฟร์มองต์ และสวิสโซเทล) มารวมอยู่ในเครือแอคคอร์ โฮเทลส์เท่านั้น แต่แอคคอร์ ยังมองโมเดลการขยายธุรกิจในรูปใหม่ๆ เพื่อต่อยอดรายได้เพิ่มขึ้น โดยเข้าไปซื้อกิจการธุรกิจบ้านพักตากอากาศหรู และธุรกิจเว็บไซต์สำรองบริการช่วยเหลือต่างๆ (John Paul) พร้อมปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจใหม่ดังกล่าวด้วย

ต่อเรื่องนี้นายแพทริค บาสเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแอคคอร์ โฮเทล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า แอคคอร์ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ธุรกิจรับบริหารและแฟรนไชส์โรงแรม 2.ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยธุรกิจจองโรงแรมออนไลน์ผ่านระบบ ฟาสต์บุ๊กกิ้ง, ธุรกิจเช่าบ้านพักตากอากาศหรู, ธุรกิจให้บริการช่วยเหลือ เช่น รถรับ-ส่ง ห้องอาหาร บัตรชมคอนเสิร์ต เป็นต้น และ 3.ธุรกิจด้านการลงทุนและเป็นเจ้าของโรงแรมเอง

ทั้งนี้ช่วงไตรมาสแรกปีนี้เครือแอคคอร์ โฮเทล มีรายได้รวม 425 ล้านยูโร เติบโต 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการควบรวมกิจการโรงแรมในเครือเอฟอาร์เอชไอ และการซื้อกิจการอื่นๆ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทางกรุ๊ป 82 ล้านยูโร

โดยธุรกิจบริหารโรงแรมทำรายได้ให้กับแอคคอร์ 394 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34% ขณะที่ธุรกิจใหม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านยูโร จาก 5 ล้านยูโร ซึ่งธุรกิจฟาสต์ บุ๊กกิ้ง (บุ๊กกิ้งห้องพักออนไลน์) มีอัตราการเติบโต 10.4% ธุรกิจบ้านพักตากอากาศหรู ร่วม 1 หมื่นหลัง ซึ่งแอคคอร์เข้าไปซื้อกิจกาผู้ให้บริการ 4 ราย คือวันไฟน์สเตย์ (Onefinestay) สแควร์ เบรก (Square break) โอเอซิส คอลเล็กชันส์ (Oasis Collections) และทราเวลคีย์ส (Travel Keys) ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำรายได้ 2 ล้านยูโร และธุรกิจ ให้บริการช่วยเหลือ จอห์น พอล (John Paul) ทำรายได้ 6 ล้านยูโร โดยแอคคอร์เข้าไปซื้อหุ้นในกิจการดังกล่าว 80% เมื่อปีก่อน และคาดว่าในอนาคตจะสามารถผนวกบริการของจอห์น พอล กับบริการโรงแรมภายในเครือแอคคอร์

ในส่วนของธุรกิจรับบริหารโรงแรม แอคคอร์ยังคงเดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอของโรงแรมทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับในไทยจะเน้นขยายออกไปสู่เมืองในระดับรองมากขึ้น ซึ่งภายในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ จะมีโรงแรมใหม่ที่เซ็นสัญญาและเตรียมเปิดกิจการ ภายใต้แบรนด์ของแอคคอร์โฮเทล 21 แห่ง รวม 4,450 ห้อง (ตารางประกอบ)

[caption id="attachment_166199" align="aligncenter" width="380"] แอคคอร์ฯต่อยอดธุรกิจใหม่เปิดโรงแรมในไทยอีก21แห่ง แอคคอร์ฯต่อยอดธุรกิจใหม่เปิดโรงแรมในไทยอีก21แห่ง[/caption]

“โรงแรมใหม่ที่จะเปิดในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ ไอบิส สไตล์ ซึ่งเป็นแบรนด์ในเซ็กเมนต์ไลฟ์สไตล์ราคาประหยัด โดยจะเพิ่มจากที่ให้บริการอยู่ 7 แห่งในปัจจุบันเป็น 12 แห่ง เนื่องจากแบรนด์นี้เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในไทย ในไตรมาสแรกของปีมีนักท่องเที่ยวไทย เข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้น 49.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 25.1% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเข้าพักในไอบิส สไตล์ในไทยเพิ่มขึ้น 99.1% คิดเป็นสัดส่วน 30.8% ซึ่งแบรนด์ในเซ็กเมนต์ไลฟ์สไตล์นี้เหมาะกับโรงแรมในไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวเอเชียชื่นชอบโรงแรมในลักษณะนี้”

นายบาสเซ ยังกล่าวว่า นอกจากไอบิส สไตล์จะได้รับความสนใจอย่างมากในไทยแล้ว แอคคอร์ โฮเทลยังมีแผนที่จะนำ แบรนด์ไลฟ์สไตล์น้องใหม่อย่าง โจแอนด์โจ (Jo & Joe) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2559 เข้ามาในไทยด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งมองหาหุ้นส่วนในกรุงเทพฯและภูเก็ต รวมไปถึงแบรนด์มามา เชลเตอร์ (Mama Shelter) ที่เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ในระดับกลาง และแบรนด์ทเวนตี้ไฟว์ อาวเออร์ส (25hours) โรงแรมไลฟ์สไตล์หรู ที่แอคคอร์เข้าไปถือหุ้น 30% เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับแบรนด์โจแอนด์โจ เป็นแบรนด์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลเป็นหลัก เป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบของบ้านเช่า โฮสเทล และโรงแรมเข้าด้วยกัน มีรูปแบบธุรกิจแตกต่างจากโรงแรมทั่วไป คือขายเป็นเตียง ไม่ได้ขายเป็นห้อง โดย 2 แห่งแรกจะเปิดให้บริการในปารีสและบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2561 และแอคคอร์ตั้งเป้าจะขยายเป็น 50 แห่งทั่วโลกภายในปี 2563 ซึ่งผม เชื่อว่าแบรนด์โจแอนด์โจน่าจะประสบความสำเร็จในตลาดไทย เนื่องจากอยู่ในระดับราคาประหยัด

ขณะเดียวกัน แอคคอร์ยังสนใจที่จะขยายตลาดในระดับลักชัวรีในไทย ภายใต้แบรนด์โรงแรมเครือเอฟอาร์เอชไอ โดยคาดว่าน่าจะสามารถเปิดตัวโรงแรมแบรนด์รัฟเฟิลส์ ได้ ในกรุงเทพฯและภูเก็ต เช่นเดียวกับแบรนด์แฟร์มองต์ ที่หวังว่าจะสามารถนำเข้ามาได้เช่นกัน

นายบาสเซ ยังกล่าวถึง การดำเนินธุรกิจโรงแรมในไทย ว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 โรงแรมในเครือแอคคอร์ โฮเทลในประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อจำนวนห้องพัก (RevPar) เพิ่มขึ้น 7.4% รายได้รวมเพิ่มขึ้น 11.3% และอัตราราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% โดยนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าพักมากที่สุดด้วยสัดส่วน 20.9% เพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อน รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวไทย 11.5% เพิ่มขึ้น 14.8% ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น 5.7%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560