ระบบรถไฟเชื่อมท่าเรือใน‘อีอีซี’ ลุ้นสร้างทางสายเก่า-ใหม่

16 มิ.ย. 2560 | 22:00 น.
กำลังฮอตสำหรับการเร่งผลักดันระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ของรัฐบาลที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำทัพการพัฒนาโดยให้กระทรวงคมนาคมเร่งสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้รับผิดชอบในฐานะเจ้าของโครงการ

[caption id="attachment_162428" align="aligncenter" width="335"] สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี[/caption]

ทั้งนี้ตามแผนที่คณะกรรมการอีอีซีและกระทรวงคมนาคมกำหนดไว้สำหรับการพัฒนาระบบรถไฟเชื่อมท่าเรือในอีอีซีแบ่งออกเป็น 3 ระยะรวมวงเงินกว่า 1.71 แสนล้านบาท โดยระยะแรก จะมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร วงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดเสมอระดับ ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ และเตรียมทางคู่ขนานเพื่อขนส่งสินค้าเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร 15,400 ล้านบาทมอบหมายให้ร.ฟ.ท.ไปศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานอีไอเอ โดยใช้งบประมาณผ่านคณะกรรมการอีอีซีส่วนโครงการสถานีบรรจุกล่องและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชา(ผ่านจังหวัดสระแก้ว) วงเงิน 3,000 ล้านบาทนั้นมีแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างไอซีดีที่แก่งคอย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_162492" align="aligncenter" width="503"] ระบบรถไฟเชื่อมท่าเรือใน‘อีอีซี’ ลุ้นสร้างทางสายเก่า-ใหม่ ระบบรถไฟเชื่อมท่าเรือใน‘อีอีซี’ ลุ้นสร้างทางสายเก่า-ใหม่[/caption]

ส่วนระยะที่ 2 มีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-สัตหีบ-มาบตาพุด- ระยอง ระยะทาง 80 กิโลเมตร และช่วงระยอง-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กิโลเมตร 22,220 ล้านบาท มอบหมายให้ร.ฟ.ท.ขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 ไปศึกษาความเหมาะสม เช่นเดียวกับช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร 22,500 ล้านบาท
สำหรับระยะที่ 3 ประกอบไปด้วย 5โครงการหลัก ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 188 กิโลเมตร 18,860 ล้านบาท รถไฟทางคู่ช่วงคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ ระยะทาง 174 กิโลเมตร 26,100 ล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงท่าแฉลบ-พานทอง ระยะทาง 120 กิโลเมตร 40,800 ล้านบาท โครงการไอซีดี ที่หนองปลาดุก จังหวัดนครปฐม 4,500 ล้านบาท และโครงการเชื่อมการขนส่งสินค้าในภูมิภาคด้วยรถไฟทางคู่

โดยปี 2560 นี้บางส่วนอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จะเริ่มเข้าสู่การประกวดราคาช่วงปี 2562 เป็นต้นไปเช่นเดียวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการก่อสร้างจะเห็นความชัดเจนในปี 2563 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนจะเป็นไปตามแผนหรือไม่นั้นคงต้องจับตามองกันต่อไปว่ารัฐบาลใหม่จะให้ความสนใจโครงการในอีอีซีกันมากน้อยเพียงใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560