"สมคิด"สั่งคมนาคม หารือการบินไทย สรุปแนวทางการดำเนินงาน หลังไม่เพิ่มทุนในนกแอร์

12 มิ.ย. 2560 | 14:18 น.
คมนาคม รับมอบนโยบายรองนายกสมคิด จี้ 6 เรื่องให้เร่งดำเนินการ ทั้งจุดยืนการบินไทยในนกแอร์ หลังตัดสินใจไม่เพิ่มทุน โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดและท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน การดำเนินการลงทุนในโครงการอีอีซี

1497269461025

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  ได้เข้าประชุมติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และพอใจในผลการดำเนินงาน รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย โดยรองนายกฯ มีความพอใจในผลการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นไปตามเป้าหมาย ผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงาน ส่งผลให้เกิดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

1497269450104

ทั้งยังได้มอบให้กระทรวงฯ จัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งให้พัฒนาเส้นทางเพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนในรูปแบบสถานีริมทาง (Roadside Station) รวมทั้งเน้นย้ำให้กระทรวงฯ ดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และสร้างความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รับนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีที่เร่งรัดให้กระทรวงฯ ดำเนินการ ดังนี้ 6 เรื่อง ได้แก่

1497269467522

1. ดำเนินงานโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการ EEC อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยง 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการรถไฟทางคู่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง เพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

2. บริหารจัดการแหล่งเงินทุนให้มีความเหมาะสม เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ เช่น การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม (Public Private Partnership : PPP) การออกพันธบัตร การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future fund) เป็นต้น

3. พัฒนาเส้นทางสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น และการท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนในรูปแบบสถานีริมทาง (Roadside Station)

4. พัฒนาท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และท่าอากาศยานภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยานให้มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ

5. เร่งรัดการดำเนินงานโครงการที่สำคัญต่าง ๆ ของกระทรวงฯ อาทิ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ด้านตะวันตก) โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการความร่วมมือรถไฟไทย - จีน โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดและท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน โครงการปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

6. ให้กระทรวงฯ หารือร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานภายหลังจากที่ บริษัท การบินไทยฯ ไม่เพิ่มทุนใน บริษัท นกแอร์ จำกัด (มหาชน) โดยให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว