สินค้าจีนสบช่องชุบตัว Made in USA

04 มิ.ย. 2560 | 12:00 น.
ในเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคยขู่ไว้แล้วว่าประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากๆ อาจจะต้องพบกับมาตรการตอบโต้เช่นถูกจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตราสูง เพื่อที่สหรัฐฯจะสามารถปรับสมดุลการค้า ขณะเดียวกันก็ได้ประกาศมาตรการ “เชิงบทลงโทษ” ต่อบริษัทอเมริกันที่โยกย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้วนำเข้าสินค้ากลับมายังตลาดสหรัฐฯ ว่าจะต้องถูกรีดภาษีในอัตราสูงเช่นกัน เป้าหมายเพื่อชักจูงให้บริษัทอเมริกันหันกลับมาผลิตและสร้างการจ้างงานในบ้านเกิดสนองนโยบาย Make America Great Again

พร้อมกันนี้ ก็ได้เสนอสิทธิประโยชน์จูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีพ่วงเข้าไปสำหรับผู้ที่ตัดสินใจโยกการลงทุนและการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ เจอเข้าไปแบบนี้หลายเสียงสะท้อนออกมาว่า “เป็นไปได้ยาก” เพราะต้นทุนแรงงานในสหรัฐฯจะทำให้สินค้าแข่งขันได้ “ยาก” ถึง “ยากมาก”แต่อย่างน้อยเมื่อเร็วๆนี้ กลับมีกลุ่มทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มองว่า นี่คือโอกาสทองสำหรับผู้ผลิตสินค้าแดนมังกร ที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตในสหรัฐฯ ยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ ชุบตัวเป็นสินค้า “เมด อิน อเมริกา” ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

++ต้นทุนแรงงานพุ่งปีละ 30%
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก นำโดยนาย เสี่ยว อู่หนาน รองประธานมูลนิธิ ได้นำคณะผู้แทนธุรกิจระดับผู้บริหารจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือธุรกิจและแสวงหาโอกาสด้านการลงทุน เขาระบุว่า สหรัฐฯอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางการลงทุนอันดับต้นๆในสายตาของผู้ประกอบการ แต่สหรัฐฯก็มีสิ่งจูงใจสำหรับบริษัทจีน โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่นๆภายใต้นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ นอกจากนี้ เขายังมองว่าเมื่อต้นทุนการผลิตในจีนเริ่มทะยานสูงขึ้น การออกมาลงทุนในสหรัฐฯก็มีข้อดีที่จะมาทดแทนกันได้

mp20-3267-a นายจู ซานชิง ประธานบริษัท เคียร์ กรุ๊ป จากเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ร่วมคณะมาเยือนสหรัฐฯในเครั้งนี้ เปิดเผยว่า ถึงแม้ต้นทุนแรงงานในสหรัฐฯจะแพงกว่าแรงงานในจีนโดยเฉลี่ยถึงสองเท่า แต่ต้นทุนอื่นๆในสหรัฐฯกลับถูกกว่าในจีนมาก อาทิ ต้นทุนการซื้อที่ดิน ราคาไฟฟ้า และฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัท “สำหรับบริษัทของเรา การเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ มีต้นทุนการผลิตในภาพรวมถูกกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในจีน”

เคียร์ กรุ๊ป เป็นผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่ของเมืองหางโจว เปิดเผยว่า หากบริษัทเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสิ่งทอในสหรัฐฯ ก็จะสามารถผลิตด้วยต้นทุน(ต่อตัน)ที่ถูกลง 25% และที่น่าสนใจก็คือ ปัจจุบัน ความได้เปรียบในการผลิตในประเทศจีนเองเริ่มลดลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจผู้ลงทุนมากที่สุดเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน ความเป็นจริงก็คือ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอของจีน ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆเฉลี่ยปีละ 30% ดังนั้น ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ เขาจึงประกาศแผนการลงทุนในมลรัฐเซาธ์แคโรไลนา เป็นโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานสิ่งทอมูลค่า 220 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 7,700 ล้านบาท และในอนาคตบริษัทอาจจะโยกย้ายฐานการผลิตทั้งหมดจากจีนมายังสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ขั้นแรกจะมีการจ้างแรงงานในสหรัฐฯมากกว่า 500 คนในปีนี้ (2560) เขาเชื่อว่า หากประธานาธิบดีทรัมป์ทำได้ตามคำมั่นสัญญาว่าจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง 15% แรงจูงใจก็จะยิ่งมีมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจได้ง่ายๆเลย

++ใกล้ผู้บริโภคกำลังซื้อสูง
อีกมูลเหตุจูงใจการลงทุนที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง การเข้ามาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯจึงเป็นการขยับเข้ามาใกล้ผู้บริโภค มีคำกล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนนั้นเป็นผู้ซื้อในอนาคต แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันคือผู้ซื้อในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว การตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯยังมีจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบอีกหลายข้อ เมื่อเทียบกับการตั้งโรงงานผลิตในจีน เช่น มีคุณภาพอากาศที่ดีกว่า มีความปลอดภัยด้านอาหารมากกว่า มีช่องทางเข้าหาแหล่งเงินทุนง่ายกว่า และรัฐบาลสหรัฐฯก็ไม่เข้าแทรกแซงกลไกตลาดเหมือนในจีน ที่สำคัญคือ เวลานี้ รัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯต่างเร่งแข่งขันกันจูงใจบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนและสร้างการจ้างงาน

บริษัท จีเอซี มอเตอร์ฯเป็นอีกหนึ่งบริษัทจากเมืองกว่างโจวของจีน ที่กำลังเล็งเจาะตลาดสหรัฐฯ โดยบริษัทกำลังพิจารณาแผนการว่าจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเองที่นี่เลย หรือจะมอบหมายให้พันธมิตรธุรกิจซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินภารกิจนี้“ถ้าเราประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐฯ เราก็จะสำเร็จได้ทุกที่ในโลก” นายหยู จุน ประธานบริษัท จีเอซี มอเตอร์ฯ กล่าวและอธิบายว่า การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯจะทำให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับทัศนะของนายจอห์นหลิง ประธานสภาการค้าอเมริกันในจีน ซึ่งทำหน้าที่หาทำเลหรือพื้นที่การลงทุนที่เหมาะสมในสหรัฐฯให้กับกลุ่มผู้ลงทุนของจีนที่มองว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือซบเซา สหรัฐอเมริกาก็คือตลาดอันดับ 1 ในสายตาของบริษัททั่วโลก

++ บริษัทประเภทไหนที่เหมาะสม
นักวิเคราะห์ระบุว่า บริษัทที่เหมาะสมจะเข้ามาลงทุนในสหรัฐอเมริกา คือ บริษัทในอุตสาหกรรมประเภทที่ต้องใช้ทุนสูง (capital-intensive industry) อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ และชิ้นส่วน-อะไหล่รถยนต์ ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ฝูเย่า กลาส จากจีน ได้เข้าไปตั้งโรงงานมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ผลิตกระจกรถยนต์ในมลรัฐโอไฮโอ ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะจะลงทุนในสหรัฐฯ คืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ทั้งนี้ เหตุผลไม่ได้เป็นเพราะต้นทุนค่าจ้างแรงงานในสหรัฐฯสูงกว่าในจีนเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการจีนมองว่า เรื่องของทักษะในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็เป็นอีกตัวแปรที่สำคัญ ซึ่งในระยะหลายปีที่ผ่านมา แรงงานจีนจะมีการพัฒนาทักษะฝีมือในการผลิตทางด้านนี้มากกว่า

อย่างไรตาม บางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากมองว่าสามารถลดต้นทุนในด้านอื่นๆชดเชย ก็อาจจะตัดสินใจลงทุนในสหรัฐฯได้ ยกตัวอย่าง ในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างหอพักให้พนักงานโรงงาน เพราะสามารถไป-กลับระหว่างบ้านและโรงงานโดยไม่ลำบาก หรือโรงอาหารมีเพียงตู้เย็นกับเตาไมโครเวฟ ก็อาจจะเพียงพอแล้ว

นอกจากนี้ อีกอุปสรรคสำหรับผู้ลงทุนจีนที่จะเข้าไปในสหรัฐฯ คือ บางอุตสาหกรรมยังขาดระบบซัพพลายเชนที่สมบูรณ์ นั่นหมายความว่า หากจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ต้องนำบริษัทอื่นๆที่อยู่ในระบบซัพพลายเชน เข้าไปลงทุนด้วยเพื่อสนับสนุนกันและกัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นักลงทุนจีนให้ความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯอาจจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม สิทธิประโยชน์พร้อม และแหล่งสนับสนุนด้านเงินทุนพร้อม นำเสนอเป็นแพ็คเกจให้กับบริษัทต่างชาติซึ่งเป็นผู้ลงทุน “บางทีสหรัฐฯก็อาจจะต้องนำนโยบายเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่มาใช้ดูบ้างเหมือนกัน”

สถานีรถไฟคุนหมิงตะวันออกเปิดบริการแล้ว

mp20-3267-b วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 จีนเปิดใช้บริการสถานีรถไฟ“คุนหมิงตะวันออก” เป็นปฐมฤกษ์แล้ว สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีที่เน้นให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเป็นหลักคุนหมิงเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนนานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีเส้นทางขนส่งระบบรางจ่อชายแดนที่ติดกับสปป.ลาวแล้ว (ภาพข่าวซินหัว)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560