ผ่า! ธุรกิจรถหรู ขายพันล้าน กำไรล้านเจ็ด

24 พ.ค. 2560 | 08:13 น.
ชำแหละเส้นทางธุรกิจ “นิชคาร์” กับอาณาจักรซูเปอร์คาร์มูลค่าพันล้านบาท หลังดีเอสไอชี้ความผิดสำแดงราคาจ่ายภาษีตํ่ากว่าความเป็นจริง ทั้งยังเคยแจงผลประกอบการในปี 2557 ไว้ 1,139 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิแค่ 1.71 ล้านบาท จ่อหลุดการเป็นผู้แทนจำหน่ายลัมโบร์กินีอย่างเป็นทางการ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดรถหรู ซูเปอร์คาร์ระส่ำไปตามๆกัน หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หันมาฟันโทษผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ นอกเหนือไปจากรถจดประกอบและกลุ่มผู้นำเข้าอิสระ (เกรย์มาร์เก็ต) ที่เคยเป็นประเด็นกันไปก่อนหน้า งานนี้ประเดิมเชือด “นิชคาร์” จากความผิดสำแดงราคารถตํ่ากว่าความเป็นจริง พร้อมอายัดรถไว้ 122 คัน จาก 5 สถานที่ที่เก็บรถและโชว์รูมในเครือนิชคาร์ ระบุจ่ายภาษีขาดไป 10-18 ล้านบาทต่อคัน รวมรัฐบาลเสียหายเฉพาะกรณีนี้กว่า 2,400 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจของ “นิชคาร์ กรุ๊ป” มีบริษัทในเครือคือ บริษัท นิชคาร์ จำกัด ที่เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์หรูหลายยี่ห้อ ทั้งซูเปอร์คาร์ “ลัมโบร์กินี” จากอิตาลี สปอร์ตคาร์ “โลตัส”จากอังกฤษ รวมถึงไฮเปอร์คาร์ “ปากานี” และ“โคนิกเซกก์” จากอิตาลีและสวีเดนตามลำดับ และล่าสุดได้ซูเปอร์คาร์สัญชาติอังกฤษ “แมคลาเรน” เข้ามาเพิ่มในพอร์ตอีกหนึ่งแบรนด์ ส่งผลให้ “นิชคาร์” ขึ้นแท่นเบอร์  1 ในตลาดรถยนต์ระดับอัลตร้าลักชัวรีของเมืองไทย (ราคาเกิน 20 ล้านบาท)

ทั้งนี้ บริษัท นิชคาร์ กรุ๊ป จำกัด มีนายเสรี ชินบารมี ถือหุ้น 51% นางสุนี เจริญวิจิตรศิลป์ ถือหุ้น 25% และนายวิทวัส ชินบารมี 24% โดยนายเสรี ชินบารมี เป็นกรรมการ แจ้งผลประกอบการล่าสุดเอาไว้ในปี 2558 ว่ามีรายได้รวม 411 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.71 ล้านบาท (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ผ่า! ธุรกิจรถหรู ขายพันล้าน กำไรล้านเจ็ด




ส่วนบริษัท นิชคาร์ จำกัด มีนางสาวศิริพรรณ บุญประกอบ เป็นกรรมการ แจ้งผลประกอบการล่าสุดเอาไว้ในปี 2557 ว่ามีรายได้รวม 1,139 ล้านบาท กำไร
สุทธิ  1.71 ล้านบาท  (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

นายวิทวัส ชินบารมี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชคาร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นลูกชายของเสรี ชินบารมี (รักษ์วิทย์) เคยเปิดเผยว่า ลัมโบร์กินีสามารถทำยอดขายได้ปีละกว่า 30 คัน และยังมองไปข้างหน้าหากมีเอสยูวีรุ่น “อูรุส” ที่เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้ แต่เริ่มส่งมอบปีหน้า (2561) เข้ามาเสริมทัพ ยอดขายลัมโบร์กินีในประเทศไทยมีโอกาสขยับเพิ่มเป็น 50 คัน

อย่างไรก็ตาม หากดีเอสไอรวบรวมหลักฐาน และเริ่มกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องจริง นิชคาร์อาจจะหลุดจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายลัมโบร์กินี และซูเปอร์คาร์รุ่นอื่นๆในอนาคต

“จริงๆนิชคาร์เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ มีสิทธิ์ทุกอย่างหรือจะตั้งราคาขายแพงก็ได้ แต่ที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจอย่างโชกโชน มีความกล้ากว่าคนอื่น ดังนั้นหากทำผิดตามที่ดีเอสไอกำลังสืบสวนจริง อาจจะหลุดจากการเป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เพราะฝรั่ง(บริษัทแม่) ไม่ชอบให้ตั้งราคาขายหรือสำแดงราคารถตํ่ากว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว” แหล่งข่าวที่เป็นผู้นำเข้ารถยนต์อิสระกล่าว

ผ่า! ธุรกิจรถหรู ขายพันล้าน กำไรล้านเจ็ด

สำนักข่าวอิศรายังเคยรายงานว่า บริษัท นิชคาร์ จำกัด ถูกกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ตรวจสอบการเสียภาษีอากร โดยมีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีครั้งแรกตั้งแต่ 19 มีนาคม 2556 จนถึงครั้งล่าสุด 2 มิถุนายน 2559 รวม 9 ครั้ง ขณะเดียวกันยังเป็นชนวนเหตุให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการสอบ สวนรองอธิบดีกรมศุลกากรและพวก (ในขณะนั้น ปี 2552) ที่สั่งคืนภาษีอากรโดยมิชอบให้แก่นิชคาร์และจูบิลีไลน์ (บริษัทนำเข้ารถยนต์ของนิชคาร์) อีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากดีเอสไอบุกอายัดรถของนิชคาร์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายวิทวัส ชินบารมี เปิดเผยว่า บริษัทเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายทุกบาท และเตรียมแถลงข่าวเพื่อชี้แจงความจริงภายในสัปดาห์นี้ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความเคลื่อนไหว