ทางออกนอกตำรา : ไม้ตาย.... เอื้อประโยชน์ให้คิงเพาเวอร์

24 พ.ค. 2560 | 08:50 น.
ทางออกนอกตำรา 
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 
ไม้ตาย.... เอื้อประโยชน์ให้คิงเพาเวอร์

ปัญหาการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ที่มี "เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา" เป็นเจ้าของ กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศ ที่อาจนำไปสู่การเอาผิดข้าราชการในกรมศุลกากร คณะผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในความผิดโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

ในเบื้องต้นนี้ ผมไม่ขอโฟกัสลงไปในเรื่องการต่อสัญญาให้เอกชนขาใหญ่รายนี้ไป 2 ครั้ง 2 ครา และไม่ขอโฟกัสลงไปในเรื่องการให้สัมปทานนั้นขัดต่อพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตามที่มีการตั้งข้อสงสัยกันอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ซึ่งได้รับสัญญาสัมปทานจะมีมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ทั้งๆที่"อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ทายาทเจ้าสัววิชัย และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ออกมายอมรับว่า กลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ มียอดขายปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท

แต่ผมของนำคุณผู้อ่านทั้งหลายมา “เพ่งพินิจเยี่ยงสุจริตชน” ในเรื่องของการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ และเปิดทางให้ประชาชนคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ นำพาสสปอร์ตพร้อมไฟลท์บินไปซื้อสินค้าปลอดภาษีที่ “คิงเพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ ซอยรางน้ำ” ซื้อของที่ “ ลาดกระบัง ศรีวารี-พัทยา-ภูเก็ต” แล้วไปเที่ยวต่างประเทศโดยไม่ต้องขนสินค้ออกไปนอกราชอาณาจักร แต่สามารถกลับมารับของที่สนามบิน แล้วขนเข้าในประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษีสักบาท

ผิดกับการซื้อสินค้าที่ “เซ็นทรัล, พารากอน, เดอะมอลล์ ,เอ็มควอเทียร์,เกษรพลาซ่า” ที่รัฐบาลจะได้ภาษีจากผู้ประกอบการ และประชาชนที่ไปซื้อของแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งภาษีนำเข้า ภาษีซื้อหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนภาษีเงินได้นิติบุคคล
การเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายนี้กลายเป็น “หนามยอกอก”กลุ่มทุนค้าปลีกมาอย่างยาวนานแต่ไม่มีใครกล้าปริปากบ่นออกมาดังๆ ว่าหน่วยงานของรัฐมีการปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน”ในธุรกิจค้าปลีกไทย

กระทั่งเมื่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มอบหมายให้นางภัทรา โชว์ศรี ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0042/1705 ลงวันที่ 21 เมษายน 2560 ไปถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอให้กรมศุลกากรพิจารณาดำเนินการภายใน 60 วัน เนื่องจาก สตง.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วพบว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ดำเนินการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เพราะมีการส่งเสริมให้นำสินค้าปลอดอากรเข้ามาบริโภคในประเทศ

สตง.ระบุว่า การกระทำดังกล่าว ขัดต่อประกาศของกรมศุลกากร ที่ 20/2549 ที่กำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบิน เป็นการให้สิทธิแก่ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อนำสินค้าปลอดอากรออกไปนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ สตง.พบว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ได้ขายของในลักษณะ Pre-order หรือ ซื้อขายออก-รับขาเข้า โดยผู้ซื้อไม่ได้นำของออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กลับเปิดทางให้มารับสินค้าในวันเดินทางถึงประเทศไทย โดยจากการสุ่มตรวจในช่วง 3 เดือนของปลายปี 2559 พบว่ามีการขายของให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศแต่ไม่ต้องขนของออกนอกราชอาณาจักร มารับของตอนขากลับที่สนามบินร่วม  3 หมื่นรายการเศษ มูลค่าการซื้อขายรวม 164.66 ล้านบาท ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะต้องเสียภาษีอากรตามประเภทสินค้าทั้ง อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อคำนวณเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวจะต้องเสียภาษีให้รัฐรวม 11.5 ล้านบาท

ผมไปค้นข้อกฎหมายในเรื่องนี้พบหลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่น่าจะนำมาพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ละเว้นการปฏิบัติหรือไม่
หลักฐานชิ้นนั้นคือ หนังสือที่กรมศุลกากรขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีกรมศุลกากรอนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อของส่วนตัวสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ จากร้านค้าปลอดอากรตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด โดยถือว่าเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 นั้น เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ได้ตอบข้อหารือ ลงนามโดย"น.ส.พรทิพย์ จาละ" อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปว่า คณะกรรมการได้พิจารณาข้อหารือของกรมศุลกากรแล้ว มีความเห็นว่า สินค้าที่จะได้รับการยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ต้องเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตน (นำติดตัวมา) สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ยกเว้นรถยนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืน และเสบียง ส่วนสุรา บุหรี่ ซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวมานั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ได้ตามที่เห็นสมควร

สินค้าที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อจากร้านค้าปลอดอากร เป็นสินค้าที่ผู้เดินทางซื้อจากร้านค้าปลอดอากรหลังจากที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว สินค้าดังกล่าว จึงไม่ใช่ของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ซื้อมาจากร้านค้าปลอดอากร สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะก็ตาม เมื่อไม่ได้เป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรในกรณีนี้ จึงไม่ใช่สินค้าตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่จะได้รับยกเว้นอากร

สำหรับกรณีการปล่อยสินค้าออกจากร้านค้าปลอดอากรให้แก่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจะถือว่า เป็นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 โดยถือว่าเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ปล่อยสินค้าออกจากร้านค้าปลอดอากร และผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งรับของที่จำหน่ายจากร้านค้าปลอดอากรจะถือว่า เป็นการรับของที่จำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยถือว่า เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำเข้าสำเร็จในเวลาที่ปล่อยสินค้าออกจากร้านค้าปลอดอากรที่จะได้รับยกเว้นอากรตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือไม่นั้น

คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เมื่อผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อสินค้าส่วนตัวสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะจากร้านค้าปลอดอากร ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ดังนั้น ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจึงไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากร ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่จะได้รับยกเว้นอากรตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 ประกอบกับภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530

ดังนั้น การขายของออกจากร้านค้าปลอดอากรขาออก ที่ไม่ได้มีการนำของออกนอกราชอาณาจักรของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี  ซึ่งเป็นผู้ขออนุญาตจัดตั้งร้านปลอดอากรจึงไม่เป็นไปตามประกาศของกรมศุลกากรที่ 20/2549 ลงวันที่ 21มีนาคม 2549 ข้อ 6.4 ผู้ซื้อต้องนำของออกนอกราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการซื้อเพื่อนำเข้ามาบริโภคภายในประเทศ ซึ่งต้องเสียภาษีอากร

แล้วทำไมจึงมีการปล่อยปละละเลยมายาวนาน....ใครมีทางออกช่วยตอบคำถามสังคมที…
จุ๊ๆ...อย่าอ้างหนังสือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังท่านหนึ่ง ออกประกาศหลังจากนั้นนะขอรับ....
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ฉบับ 3264 ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค.2560