ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1/2560 โต 3.02%

22 พ.ค. 2560 | 07:18 น.
“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ชี้การใช้จ่ายภาครัฐและปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้ดัชนีค้าปลีกเติบโต ส่งผลดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกไตรมาสแรก ปี 2560 โต 3.02%

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมของไตรมาสแรกปี 2560  เติบโตขึ้นถึง 3.02% ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในครึ่งปีแรก มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร  คาดการณ์ว่า หากเครื่องยนต์การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรก อาจต่ำกว่า 3% หรือในทางกลับกัน หากการใช้จ่ายภาครัฐมีประสิทธิภาพ ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกน่ามีโอกาสจะเติบโตถึง 3.2%

“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้หมวดสินค้าต่างๆเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทน ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล Retail Landscape by The Nielson ที่แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในหมวด FMCG ยังคงติดลบเล็กน้อยในไตรมาส 1/2560 ส่วนหมวดสินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทน ยังคงทรงตัว และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว”

retail consumption 1-2560

โดยพบว่า หมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตในอัตราที่ต่ำเพียง 1.25% เห็นได้จากอุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1/2560 ติดลบ ส่วนธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมีการเติบโตเล็กน้อย เนื่องมาจากการเข้มงวดของการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน ส่วนหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 3%

หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods) เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตถดถอยเพียง 2.3 %  แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 5%  ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน  ทำให้หมวดสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง ยังคงเติบโตต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา

หมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods) เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนถึง 3.4% ในไตรมาส 1/2560 แม้จะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวช้า   แต่ยังคงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานใหญ่ของกลุ่มผู้บริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้อัตราการบริโภคสินค้าหมวดนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ธุรกิจในหมวดสินค้าไม่คงทนเติบโตฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยยะ สินค้าหมวดดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 68% ของดัชนีค้าปลีก