ทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 คืบหน้าเกือบ 90%

19 พ.ค. 2560 | 09:32 น.
โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) คืบหน้ากว่าร้อยละ 86ปรับปรุงผิวทางเดิมจากถนนแอสฟัลต์คอนกรีต เป็นถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อ(Continuously Reinforced Concrete Pavement)

ถนน2

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) ว่าตามที่ กรมทางหลวงได้รับงบประมาณ ในกิจกรรมโครงการบูรณะโครงข่ายสายหลักระหว่างภาค ในโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) ตอน 1 แทนของเดิมซึ่งสภาพผิวหน้าแตกมีการทรุดตัว ไม่เรียบตลอดเส้นทาง เวลาฝนตกถนนลื่นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยกรมทางหลวงได้ ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 6 ช่องจราจร, 8 ช่องจราจร และ 10 ช่องจราจร ไป – กลับ ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) และ Concrete Barrier Type II ผิวทางเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็กแบบไร้รอยต่อ โดยทำการรื้อชั้นโครงสร้างเดิมที่ชำรุดเสียหายออก แล้วทำการก่อสร้างชั้นโครงสร้างทางใหม่ ซึ่งโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายแยกทางหลวงหมายเลข 7 (บ.เนินผาสุข) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) เป็นเส้นที่เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 331 เดิม (สายสัตหีบ – พนมสารคาม) ซึ่งเป็นเส้นทางจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคอีสาน ที่ กม.49 แยกไปสู่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ผ่านทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์สาย กรุงเทพฯ – พัทยา) ที่ กม.100 ระยะทางประมาณ 15.610 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 1,077,590,980.00 บาท   เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยผ่านทางหลวงหมายเลข 7 และทางหลวงหมายเลข 331 เดิม ซึ่งโครงการฯ นี้ ยังตัดผ่านนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 4 แห่ง และลานกองตู้คอนเทรนเนอร์จำนวนมาก ทำให้เส้นทางนี้มีรถบรรทุกใช้เส้นทางสายนี้จำนวนมาก

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 86 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจร และขนส่งที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการขนส่งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมบริเวณนิคมอุตสาหกรรม และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณภาคตะวันออกตลอดจนเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและบริการ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  นอกจากนี้การก่อสร้างถนนสายดังกล่าวมีความพิเศษ ตรงที่ กรมทางหลวงได้ก่อสร้างปรับปรุงผิวทางเดิมจากถนนแอสฟัลต์คอนกรีต เป็นถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อ(Continuously Reinforced Concrete Pavement) โดยพบว่าผิวทางมีความเรียบสูงกว่าถนนคอนกรีตทั่วไป ในอนาคตกรมทางหลวงจะนำข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างถนนคอนกรีตชนิดไร้รอยต่อดังกล่าวไปพิจารณาปรับปรุงการก่อสร้างผิวทางคอนกรีตทั่วประเทศต่อไป