RATCHทิ้งปตท. ผนึกอินโดฯค้าLNGเอง

23 พ.ค. 2560 | 09:00 น.
ราชบุรีโฮลดิ้ง เล็งเจรจาอินโดนีเซีย จับมือลุยธุรกิจค้าก๊าซแอลเอ็นจี คาดรู้ผลภายในปีนี้ ป้อนลูกค้าเอเชีย-แปซิฟิกและไทย หลังไม่มีความชัดเจนการลงทุนของปตท.ที่เมียนมา และกฟผ.ที่คาดจะติดพ.ร.บ.ร่วมทุน

ก่อนหน้านี้บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้รับคำเชิญจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อจะทำร่วมทำธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีด้วยกัน โดยมีโครงการนำเข้าก๊าซในรูปแบบคลังลอยน้ำหรือ FSRU ขนาด 3 ล้านตันต่อปี ตั้งอยู่ทางฝั่งเมียนมา เพื่อจะส่งก๊าซเข้าแนวท่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่โครงการดังกล่าวกับไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลเมียนมา หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จึงทำให้โครงการสะดุดไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ขณะเดียวกันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีโครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำด้วย ที่จะนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ขนาด 5 ล้านตันต่อปี เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการศึกษาในรายละเอียดแล้ว และอยู่ระหว่างเชิญชวนบริษัทลูกเข้าร่วมดำเนินการ ซึ่งหนึ่งในนั้น เป็นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งฯ ที่มีความสนใจ แต่เกรงว่าจะติดปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุน ที่จะทำให้บริษัทลูกไม่สามารถเข้าดำเนินการได้

นายภาสกร ดังสมัคร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาโครงการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทจะขยายเข้าสู่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ซึ่งสนใจจะเข้าไปร่วมใน 2 โครงการดังกล่าว แต่ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ที่ยังไม่มีความชัดเจนจากทางรัฐบาลเมียนมา และโครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ยังรอดูว่าจะติดขัดพ.ร.บ.รวมทุนฯหรือไม่

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจจะต้องเดินหน้าไป เมื่อทั้ง 2 โครงการยังไมมีความชัดเจน บริษัทก็ต้องไปหาพันธมิตรรายอื่นเข้ามาแทน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเจรจาร่วมมือกับทางอินโดนีเซีย เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งคงเป็นพันธมิตรเดิมคือบริษัท PT Medco Power Indonesia (MPI) เพราะปัจจุบันบริษัทแม่ MPI ดำเนินธุรกิจแอลเอ็นจี โดยปัจจุบันมีโครงการร่วมทุนกับบริษัท MPI ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 275 เมกะวัตต์อยู่แล้ว

ดังนั้น หากประสบความสำเร็จในการเจรจาร่วมมือจีกับพันธมิตรอินโดนีเซีย บริษัทก็จะทำธุรกิจค้าแอลเอ็นจี เบื้องต้นที่ระดับ 3 ล้านตันต่อปี โดยเน้นลูกค้าแถบเอเชียแปซิ-ฟิกเป็นหลัก ร่วมทั้งมีแผนนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม กฟผ. ที่จะมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังพิจารณาเรื่องการลงทุนสร้างคลังแอลเอ็นจีในอนาคตด้วย

“บริษัทยังคงแผนลงทุนในธุรกิจแอลเอ็นจี ที่เงียบๆไปตอนนี้ เนื่องจากคลังแอลเอ็นจีของ ปตท.ที่จะลงทุนในเมียนมาขนาด 3 ล้านตัน ยังต้องรอความชัดเจนจากทางการเมียนมาส่วนของกฟผ. บริษัทก็สนใจร่วมทุนเช่นกัน หากยังไม่มีความชัดเจน บริษัทคาดว่าภายในปีนี้จะเริ่มเจรจากับพันธมิตรในอินโดนีเซียเพื่อร่วมมือดำเนินธุรกิจแอลเอ็นจี” นายภาสกรกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560