ปิดฉากQ1ท่องเที่ยว ธุรกิจรร.รุ่ง - แอร์ไลน์น้ำมันพ่นพิษแต่ยังกำไร

19 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
ปิดฉากไปแล้วสำหรับผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกปี2560สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและการบิน ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ต่างยังคงกำไรพุ่งกันถ้วนหน้าแม้แต่สายการบินนกแอร์ ที่แม้จะยังประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ แต่ก็ขาดทุนลดลงไปมาก หากเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาการเติบโตของภาคธุรกิจนี้เป็นไปตามอานิสงส์การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

รร.กำไรดำเนินการพุ่‹ง
เริ่มกันที่ฟากของธุรกิจโรงแรมช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ต่างก็มีกำไรถ้วนหน้า โดยไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล แม้จะโชว์กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.92 พันล้านบาท ดูเผินๆเหมือนกำไรจะต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 3.57 พันล้านบาท แต่หากหักค่าใช้จ่ายจากการซื้อโรงแรมทิโวล่า 14 แห่งมูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาทออกไป จะพบว่าQ1ปีนี้ ไมเนอร์ ฯ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ 1.92 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 1.64 พันล้านบาท เฉพาะในส่วนของไมเนอร์ โฮเทลส์ มีกําไรสุทธิ จํานวน 1.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21 %

ขณะที่ดิเอราวัณ กรุ๊ป ก็มีกำไร 143.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนบมจ.โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า ปีนี้มีกำไรอยู่ที่ 783 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมที่ 5.32 พันล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหาร 3.3% แต่รายได้จากธุรกิจโรงแรม ถือว่ารายได้คงที่ เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงของโรงแรมที่มัลดีฟส์ เป็นต้น

 แอร์ไลน์ขนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
สำหรับในแง่ของธุรกิจการบินนั้น แม้ในช่วงที่ผ่านมา ทุกสายการบินต่างก็มีต้นทุนจากราคาน้ำมันอากาศยานที่ปรับตัวสูงขึ้น และการแข่งขันธุรกิจการบินที่เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้ผลการประกอบการของสายการบินต่างๆหากเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา หลายสายการบินมีกำไรลดลง ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย ที่กำไรต่ำกว่าปีก่อน 47.3% ,เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) กำไรต่ำกว่าปีก่อน 43.4% ,บางกอกแอร์เวย์ส มีกำไรสุทธิ 565 ล้านบาท กำไรต่ำกว่าปีก่อนที่ในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 1.57 พันล้านบาท แต่สายการบินต่างๆเหล่านี้ก็ยังสามารถทำกำไรในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ได้อยู่ หรือแม้แต่สายการบินนกแอร์ ก็มีทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น จากปัญหาการขาดทุนต่ำลดลงไปมาก อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของผลกำไรที่เกิดขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

Q1 ของการบินไทย และบริษัทมีกำไรสุทธิที่ 3.16 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบินอยู่ที่2.86 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนราว 60.1% สาเหตุหลักมาจากค่านํ้ามันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคานํ้ามันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนถึง 45.8% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันล้านบาท (18.5%) มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82.8% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย77.5% ทั้งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1%

 กางแผน 4 แอร์ไลน์
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในปีนี้การบินไทย เข้าสู่ระยะ 3 แผนปฏิรูปองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินการใน 6 กลยุทธ และเรายังเตรียมรับมอบเครื่องบิน 7 ลำ และอยู่ระหว่างเจรจาขายเครื่องบิน 20 ลำตามแผนการปรับปรุงฝูงบินด้วย

ายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Q1 ของไทยแอร์เอเชีย มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,150 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,036 ล้านบาท (ส่วนของAAV อยู่ที่570 ล้านบาท)โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร 89% สำหรับไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ไทยแอร์เอเชีย เตรียมจะเพิ่มเส้นทางบินใหม่อีก1 เส้นทางในตลาด CLMV โดยจะบินตรงทุกวัน ดอนเมือง-ดานัง (ประเทศเวียดนาม) เริ่มทำการบินวันที่ 9 มิถุนายนนี้ รวมทั้งการเพิ่มความถี่บินเส้นทางภายในประเทศอีก 2 เส้นทางคือ ดอนเมือง-ขอนแก่น จาก 4 เป็น 5 เที่ยวบินต่อวัน และดอนเมือง-ร้อยเอ็ด จาก 2 และ 3 เที่ยวบินต่อวัน ตั้งแต่วันที่5 เมษายน 2560ซึ่งตามตลอดทั้งปีนี้ สายการบินยังตั้งเป้าหมายรับเครื่องบินใหม่จนครบ 57 ลำ ณ สิ้นสุดปี มีเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารที่ 19.5 ล้านคน ด้วยอัตราส่วนขนส่งผู้โดยสารที่ 84 %

นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนกแอร์ จำกัด เผยว่า Q1 ของนกแอร์ ถือว่าดีขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีการขาดทุนที่ลดลง ซึ่งในช่วงดังกล่าวสายการบินมีรายได้ในการดำเนินการรวม 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.88% จากการขยายเส้นทางบินและเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน รวมถึงการเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำเช้าจีนที่ได้รับการตอบรับดี แต่ก็มีปัจจัยเรื่องของต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น มาทำให้นกแอร์ ยังขาดทุนอยู่

อีกทั้งนกแอร์มีแผนการเพิ่มทุนนกแอร์มูลค่ารวมไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท ภายในอีกไม่กี่เดือนนี้ ก็จะทำให้นกแอร์ สามารถขยายเน็ตเวิร์คในต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดีย จีน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีดีมานต์การเติบโตในการเดินทางมาท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง โดยมีแผนจะเปิดบินเข้าจีน และปรับแผนในเส้นทางจีน จากที่ผ่านมาเราเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้าหลายเมืองในจีน อาทิ เฉินตู ,หนานหนิง จากฮับที่สนามบินดอนเมือง,ภูเก็ตและเชียงใหม่ต่อไปเราจะปรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่บินเข้าจีน มาเป็นเที่ยวบินแบบประจำ เนื่องจากปีนี้สายการบินจะรับมอบเครื่องบิน737-800 เข้ามาเพิ่มเติมอีก 2 ลำ

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ว่า รายได้รวมของบริษัทฯ อยู่ที่ 7,469 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 565 ล้านบาท มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Yield) เท่ากับ 4.91 มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารอยู่ที่ 2.7%

นอกจากนี้ บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้รวมของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 11.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 โดยเป็นผลมาจากธุรกิจครัวการบินซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น 14.4% และในช่วงที่ผ่านมาได้ขยายเส้นทางบินและเพิ่มเที่ยวบินหลายเส้น อาทิ เส้นทางบินตรงระหว่างเกาะสมุย-กวางโจว การเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560