ผลเจรจาคืบ ผู้เลี้ยงไข่ไก่พอใจ แบงค์กรุงไทยยันไม่ทิ้งลูกค้าหนุนเติบโต

15 พ.ค. 2560 | 13:35 น.
เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณ เผยผลเจรจากรุงไทยคืบ ฝ่ายบริหารจะมีคำตอบให้ วันที่ 31 พ.ค.นี้ แจงเหตุเร่งปรับฟาร์มใหม่ เข้าสู่มาตรฐานจีเอพี ผวาอนาคตซีพี-เบทาโกร ไม่รับซื้อไข่ไก่ หวั่นซ้ำรอยปัญหาประมง ด้านกรุงไทยแจงยืนยันหนุนลูกค้าเอสเอ็มอีเติบโต

จากกรณีผู้เลี้ยงไข่ไก่สุพรรณบุรี ได้ร้องเรียนผ่านหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่าธนาคารกรุงไทยไม่ปล่อยสินเชื่อนั้น ล่าสุด (วันที่ 15 พ.ค.60) นายชัย พรสีถัน ผู้ประกอบการบริษัท ชัยพรสหฟาร์ม ผู้ประกอบการธุรกิจเลี้ยงไข่ไก่ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ทางนายสิทธิพร อิทธิวิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มธุรกิจขนาดกลางภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้เข้ามาพูดคุย หารือ และรับปากว่าวันที่ 31 พฤษภาคมนี้จะมีคำตอบจากธนาคารว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่

"บรรยากาศเป็นไปด้วยดี แต่ก็ยังไม่คิดล้มเลิกที่จะไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะว่าอยากให้ผู้บริหารนโยบายรับทราบภาพรวมอุตสาหกรรมไข่ไก่ที่ทุกฟาร์มจะต้องเข้าสู่มาตรฐานจีเอพี จำเป็นที่จะต้องมีเงินลงทุนเพิ่ม เพราะต่อไปบริษัทใหญ่ เครือซีพี และ บจก.เบทาโกร อาจจะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานกีดกันในการรับไข่ไก่จากเกษตรกร อ้างไม่รับไข่ไก่ได้ เพราะฟาร์มไม่ได้มาตรฐาน  ปัญหาดังกล่าวนี้คล้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวประมงแล้ว ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่"

นายชัยพร กล่าวว่า  ในฐานะประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคกลาง จึงขอให้สถาบันการเงินเห็นใจ เนื่องจากฟาร์มนี้ นับว่าเป็นฟาร์มตัวอย่างเท่านั้นต่อไป เชื่อว่าจะมีฟาร์มอีกหลายร้อยฟาร์มทั่วประเทศที่จะต้องปรับมาตรฐานใหม่ ยอมรับว่าธุรกิจไข่ไก่มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าได้รับมาตรฐานจีเอพีอย่างน้อยก็เป็นเกาะป้องธุรกิจได้ และในเร็วๆ นี้ทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังออกอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกออกมาเพื่อทำให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

" อาทิ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่นำเข้า จะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนบริหารไข่ไก่ โดยให้บริษัทนำเข้าจ่ายพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ตัวละ 100 บาท สมเหตุสมผล แต่ถ้าเป็นการนำปู่ย่า เข้ามาควรจะเรียกเก็บตัวละ 1,000-1,500 บาท เพราะปู่ย่าตัวหนึ่งเลี้ยงออกมาให้พ่อแม่พันธุ์ไข่ไก่ได้ 90 ตัว ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่รายเดียว จะนำเข้าไม่ถึงหมื่นตัวแต่ก็ส่งผลทำให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำไม่มีเสถียรภาพ และอีกฉบับหนึ่งเป็นกฎหมายของกรมปศุสัตว์ ที่จะออกมาบังคับเลยว่า เกษตรกรที่เลี้ยงตั้งแต่ 100 ตัวขึ้นไปต้องแจ้งขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ส่วนผู้ประกอบการที่เลี้ยงตั้งแต่ 300,000 ตัวขึ้นจะต้องมีแผนการตลาดชัดเจนว่าจะไปส่งที่ไหน แล้วทุกตัวจะต้องแจ้งวันไก่เกิด-แจ้งวันปลดไก่ หากปลดช้าเกิน 72 สัปดาห์ เกษตรกรจะมีความผิดโดนโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท เมื่อขายปลีกไปแล้วจะมีกฎหมายควบคุมว่าในส่วนร้านค้าว่าจะอยู่ได้มีเกิน 21 วัน หากขายเกินกำหนดถือว่าสินค้าหมดอายุ จะมีความผิดเช่นเดียวกัน เชื่อกฎหมายลูก 2 ฉบับนี้จะทำให้เกษตรกรได้ผลประโยชน์  แต่อีกด้านเกษตรกรจะขาดโอกาสเพราะเชื่อว่ายังไม่มีใครทราบกฎหมายตัวนี้เลย จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะบังคับใช้จริง"

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ส่งหนังสือแจงกับ "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีนายชัยพร สีถัน บริษัท ชัยพรสหฟาร์ม จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจเลี้ยงไข่ไก่ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร้องเรียนนั้น ยืนยันว่าธนาคารมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนสินเชื่อให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  ซึ่งนอกจากการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปแล้ว ธนาคารยังมีสินเชื่อพิเศษที่สนับสนุนแก่ SME ตามนโยบายภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SME เช่น โครงการพัฒนาธุรกิจลูกค้า SME (MMS) การอบรม Genious Exporter โครงการ KTB-SME บัญชีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อนั้น ธนาคารมีเครื่องมือและหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐาน ที่สำคัญจะพิจารณาถึงลักษณะการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการ โครงสร้างการลงทุน และความสามารถชำระหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์กับตัวลูกค้าเอง โดยไม่ได้มุ่งพิจารณาเพียงความคุ้มค่าของหลักประกันเป็นหลัก

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมีความปรารถนาให้ลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน และมีความเข้มแข็งในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีเป้าหมายในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีภาระกิจในการดูแลผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้าและพนักงาน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อย ดังนั้นในการดำเนินธุรกิจ ธนาคารจึงต้องยึดมั่นในการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับสังคม สำหรับกรณีของบริษัท ชัยพรสหฟาร์ม จำกัด ธนาคารได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเข้าไปทำความเข้าใจกับลูกค้าอย่างเร่งด่วนแล้ว