ชี้ค่านิยมให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉยๆไม่ให้ทำงาน เร่งเกิดโรคสมองเสื่อมเร็วขึ้น!

30 เม.ย. 2560 | 07:25 น.
ชี้ค่านิยมให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉยๆไม่ให้ทำงาน เร่งเกิดโรคสมองเสื่อมเร็วขึ้น  อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยขณะนี้ผู้สูงอายุไทยเป็นโรคสมองเสื่อมมากถึง 800,000 คน  ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากค่านิยมของลูกหลานที่หวังดีกลัวผู้สูงอายุเหนื่อย  มักจะให้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ให้ทำงาน  ชี้เป็นการทำร้ายผู้สูงอายุทางอ้อม เร่งให้เกิดโรคนี้เร็วขึ้นจากสมองฝ่อเพราะขาดการใช้งาน  เร่งพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองต้นแบบประเทศใช้ค้นหาผู้สูงอายุที่ป่วยได้เข้าถึงบริการเร็วที่สุด คาดขยายผลใช้ทั่วประเทศปลายปีนี้

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 60  ปีขึ้นไป 10 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ   ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว กรมสุขภาพจิตมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุโดยเน้นการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพจิตทั้งกลุ่มที่ยังมีสุขภาพดี ไปไหนมาไหนได้  เพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตดี  และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาเจ็บป่วย ช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรือไม่ได้ อยู่ติดบ้าน ติดเตียง เน้นการดูแลและเฝ้าระวังปัญหาภาวะซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายสุขภาพระดับตำบลได้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อสม. เครือข่ายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้ดูแลผู้สูงอายุ  โดยปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุไทยที่น่าห่วงขณะนี้คือโรคสมองเสื่อม ทำให้เกิดอาการหลงลืม การช่วยเหลือตัวเองลดลง ผลสำรวจโดยการตรวจร่างกายของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขล่าสุดครั้งที่ 5  ในปี 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้ร้อยละ 8  หรือประมาณ 800,000 กว่าคนทั่วประเทศ ยิ่งอายุมากยิ่งพบสูงขึ้น ซึ่งโรคนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพิงการดูแลจากครอบครัวและสังคม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งระดับประเทศและระดับโลก

“ สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุไทยเป็นโรคสมองเสื่อมมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากโรคทางกายเช่นเส้นเลือดในสมองตีบแตกหรืออุดตัน ส่วนหนึ่งเกิดต่อเนื่องจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า   และปัจจัยเสริมอีกอย่างเกิดมาจากสมองของผู้สูงอายุขาดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เซลล์สมองส่วนที่เคยใช้งานประจำเกิดการลีบและฝ่อตัว  ซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบและประการสำคัญขณะนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจปัญหาสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ เข้าใจว่าเป็นความเสื่อมธรรมดาที่เกิดขึ้นตามวัย  ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือเรื่องค่านิยมลูกหลานไทยที่ปลูกฝังสืบทอดกันมา ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ผู้สูงอายุทำงาน  จะให้หยุดพักผ่อนอยู่บ้าน นั่ง นอน ดูทีวี  เพราะเห็นว่าอายุมากและทำงานมามากแล้ว กลัวจะเหนื่อย ค่านิยมนี้แม้เป็นความปรารถนาดี แต่จะเป็นการทำร้ายผู้สูงอายุทางอ้อม  เป็นตัวเร่งให้ผู้สูงอายุเกิดโรคสมองเสื่อมได้เร็วขึ้น  เนื่องจากสมองส่วนที่เคยใช้งานประจำไม่ได้รับการกระตุ้น ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า โรคสมองเสื่อม สามารถชะลอการเกิดให้ช้าลงได้  ขอแนะนำให้ลูกหลานกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ใช้สมอง ใช้ความคิดความจำบ่อยๆเช่นเดียวกับการออกกำลังกายฝึกการใช้กล้ามเนื้อ   เช่น ออกกำลังกายตามความเหมาะสม เล่นไพ่ฝึกนับตัวเลข รำวง  ใช้นิ้วเท้าปั้นกระดาษให้เป็นลูกบอลกลมๆขณะนั่งดูทีวี เป็นต้น ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มวัยเดียวกันและให้ผู้สูงอายุทำงานตามศักยภาพที่มีอยู่  โดยในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตเร่งพัฒนาระบบบริการเน้นหนัก 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การพัฒนาโปรแกรมสร้างสุขผู้สูงอายุ 5 มิติ ได้แก่สุขสบาย สุขสนุก สุขสง่า สุขสว่างและสุขสงบป้องกันโรคซึมเศร้าและโรคสมองเสื่อม

ขณะนี้ขยายใช้กับผู้สูงอายุทุกชุมชนแล้ว และมอบให้โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี  วิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองโรคสมองสื่อมที่มีปัญหามาจากด้านจิตใจและพฤติกรรมควบคู่กันเป็นต้นแบบของประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ป่วยเข้าถึงบริการที่เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยเข้าถึงบริการร้อยละ 10-15 เท่านั้น  ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จสมบูรณ์  คาดว่าจะใช้ทั่วประเทศในปลายปีนี้

ด้านนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า โดยทั่วไปอาการหลงลืม สามารถเกิดได้กับคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม ญาติหรือคนในครอบครัวสามารถสังเกตุสัญญานอาการเบื้องต้นง่ายๆ โดยให้ดูที่การทำกิจวัตรประจำวันที่ผู้สูงอายุเคยทำได้  แต่ทำได้น้อยลงกว่าเดิมหรือทำผิดพลาด  เช่น ติดกระดุมเสื้อผิด  ใส่เสื้อกลับด้าน  หากพบขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อจะได้รับการส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีความเชี่ยวชาญต่อไป หากผู้สูงอายุที่เป็นโ รคนี้ไม่ได้รับการดูแล อาจมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างตามมา เช่น โรคติดเชื้อ โรคขาดสารอาหาร โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  เป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้