สนามหลวง ในความทรงจำ

01 พ.ค. 2560 | 00:00 น.
เชื่อว่าในความทรงจำของชีวิตคนไทยแทบทุกคนต้องมีสถานที่ที่ชื่อว่า “สนามหลวง” ภาพจำของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป บ้างแตกต่างตามห้วงเวลา ห้วงอายุ บ้างแตกต่างตามวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับสถานที่นี้ แล้วคุณล่ะมีภาพจำเกี่ยวกับสนามหลวงในแง่มุมใด?

mp31-3257-1 โดยกำเนิดของท้องสนามหลวง หรือ “ทุ่งพระเมรุ”นั้น เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ฝั่งเดียวนั้น พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะรังสรรค์กรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นปึกแผ่นเกรียงไกรเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา และสืบทอดโบราณราชประเพณีอันยิ่งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริว่าทุ่งพระเมรุเมื่อว่างเว้นจากการพระราชพิธีก็เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวทำนาหลวง ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าชื่อที่ผู้คนเรียกว่าทุ่งพระเมรุ ซึ่งนานๆจะมีงานพระเมรุครั้ง เป็นชื่อที่ฟังดูไม่ดี จึงได้พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” เมื่อ พ.ศ.2398 และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและประเพณีสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

mp31-3257-2 สนามหลวง เคยเป็นที่แข่งม้าแห่งแรก , เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการแข่งขันรถยนต์ครั้งแรกในประเทศสยาม และเมื่อกีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเหล่าทหารกรมกองต่างๆ ก็ได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงสำหรับฝึกซ้อมฟุตบอลด้วย ในพ.ศ.2491 สนามหลวงถูกใช้เป็นตลาดนัดหลังบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตจากผลพวงจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่จะย้ายไปบริเวณพหลโยธินเมื่อ พ.ศ.2524 อันเป็นจุดกำเนิดของตลาดนัดจตุจักรในปัจจุบัน

mp31-3257-3 กลับมาสู่คำถามเมื่อต้นเรื่องที่ผมถามคุณผู้อ่านไว้ว่า แล้วคุณล่ะมีภาพจำเกี่ยวกับสนามหลวงในแง่มุมใด? งานเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง พระราชินี หรือ ลานสนามหญ้าขนาดใหญ่ได้นั่งพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวมิตรสหาย หรือ ศูนย์กลางทางคมนาคมเมื่อต้องมากรุงเทพฯครั้งแรก หรือ สถานที่ชุมนุมทางการเมือง หาเสียงเลือกตั้ง หรือ ที่ที่ชาวต่างชาติพูดถึงเมื่อนึกถึงประเทศไทย ....... คุณผู้อ่านน่าจะมีคำตอบในใจแล้ว ถ้าเปรียบสนามหลวงเป็นสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง คงเป็นสมุดบันทึกเล่มใหญ่ที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย และสมุดบันทึกเล่มนี้มีชีวิตที่มีความเป็นออริจินอลแบบคนกรุงเทพฯจริง ๆ ทีมรายการสารคดี เรื่องจริงยิ่งต้องเล่า จึงได้นำเรื่องราวที่น่าสนใจในแง่มุมต่าง ๆ มาเรียงร้อยด้วยภาพและเนื้อหาการเล่าเรื่องราวจากผู้สันทัดกรณี เพื่อบันทึกเรื่องราวของสนามหลวงไว้ และหวังใจให้ท่านผู้ชมได้ย้อนระลึกถึงภาพความทรงจำของตัวเองที่มีกับสถานที่นี้ ติดตามรายการตอนนี้ได้ในวันเสาร์ที่ 1 พ.ค.นี้ เวลา 9:00-10:00 น. ทางสถานีข่าวสปริงนิวส์ ช่อง 19 ......สนามหลวง...ในความทรงจำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560