เรื่องกินเรื่องใหญ่

21 เม.ย. 2560 | 14:00 น.
ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า “ปัจจัย 4” อย่างไรก็ขายได้ เพราะคนเราจำเป็นต้องใช้ปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตเสมอ โดยเฉพาะอาหาร ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าทำธุรกิจอาหารเป็นอย่างมาก
สำนักข่าว CNN จัดอันดับ 23 เมืองที่มีร้านอาหารริมทางดีที่สุดในโลก (World’s 23 best cities for street food) อันดับ 1 ได้แก่ กรุงเทพมหานครอย่างไม่น่าแปลกใจ โดย CNN ได้กล่าวว่ามีอาหารน่าสนใจมากมาย อาทิหอยทอดไปจนถึงก๋วยเตี๋ยวไก่ อันดับที่สองได้แก่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมว่าประเทศไทยชนะขาดลอย เช่นเดียวกับเว็บไซต์ Virtual Tourist ก็ยกให้กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกันตามมาด้วยสิงคโปร์

ล่าสุด Asia’s 50 Best Restaurants รายการการจัดอันดับร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย ครั้งที่ 5 ปรากฎว่า 2 ร้านอาหารในประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ในปี 2017 ได้แก่ ร้านอาหารอินเดีย Gagganของเชฟกักกัน อนันด์(GagganAnand) ได้อันดับหนึ่งติดต่อกันสามปีซ้อน และร้านอาหารไทย Nahmของเชฟเดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) อยู่ในอันดับที่ 5 นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารของประเทศไทยติดอันดับถึง 7 ร้าน

ในด้านการส่งออก สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภาพรวมการส่งออกอาหารประจำปี 2559 ว่ามีมูลค่ารวม 9.72 แสนล้านบาท เติบโต 7% ส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น และขยับเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 15 ปีที่แล้ว และตั้งเป้าจะติด 5 อันดับแรกใน 20 ปีข้างหน้า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,050,000 ล้านบาท เติบโต 8%

[caption id="attachment_141762" align="aligncenter" width="503"] เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องกินเรื่องใหญ่[/caption]

จากข้อมูลต่างๆ ที่ผมนำมาฝากเห็นได้ชัดเจนว่าโอกาสในการทำธุรกิจอาหารยังน่าสนใจมาก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสรับประทานอาหารน่าสนใจอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกกำลังเป็นกระแสมาแรงควรทำความรู้จักไว้ นั่นคือ “Molecular Gastronomy”หมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ เคมีและฟิสิกส์ มาใช้ในการประกอบอาหาร อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นคือการเปลี่ยนสภาพของวัตถุดิบต่างๆ ในการประกอบอาหารนั่นเอง Molecular Gastronomyเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1998 เมื่อ Curt Jones นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Southern Illinois University Carbondale คิดค้น Dippin’ Dots หรือไอศกรีมเม็ดได้เป็นผลสำเร็จ หรือแม้แต่น้ำดื่มก้อนกลมๆ ที่ดื่มได้ทั้งก้อนก็ใช้วิธี Spherificationหรือการทำให้ของเหลวเปลี่ยนสภาพโดยเพิ่มแรงตึงผิวของของเหลวจนคงรูปทรงได้จับตัวเป็นก้อนน้ำ เมื่อทานเข้าไปแล้วกัดของเหลวภายในจะแตกออกมาในปาก วิธีนี้ก็เป็น Molecular Gastronomy วิธีหนึ่ง จุดเด่นที่สำคัญของ Molecular Gastronomy คือ รสชาติ ความสวยงาม และความแปลกใหม่ หากผสมผสาน 3 สิ่งนี้ได้รับรองได้ใจลูกค้าแน่นอน

หาก Molecular Gastronomy เป็นความตื่นเต้น เร้าใจ อีกประเภทหนึ่งก็เรียกว่าเป็นความเรียบง่าย สบายๆ นั่นคือ “Comfort Food”หมายถึง อาหารที่ทำง่ายๆ สบายๆ กินแล้วมีความสุข คิดถึงความอบอุ่นภายในบ้านหรือนึกถึงความทรงจำวัยเด็ก ประมาณคุณแม่ทำให้กิน จริงๆ แล้วทุกชาติมี Comfort Food เช่น อาหารไทยอาจจะนึกถึงข้าวผัดซอสแดงง่ายๆ สปาเกตตี้มีทบอลหรือมะกะโรนีแมคแอนด์ชีสของฝรั่งนั่นเอง เรียกว่าหั่นๆ โยนๆ อะไรลงไปก็อร่อยล้ำ คนที่ทำให้อาหารประเภทนี้ดังขึ้นคือ เซเลบริตี้เชฟชาวอังกฤษชื่อดัง เจมี โอลิเวอร์(Jamie Oliver) ที่รายการทำอาหารของเขาดูง่าย ทำง่าย และน่ากิน จุดเด่นที่สำคัญของ Comfort Food คือ รสชาติ ความเรียบง่าย และความอร่อย ท่านผู้อ่านไปลองชิมร้านโปรดของผมได้ที่ Papilloteที่ The Crystal SB ราชพฤกษ์ แล้วจะรู้ว่าอาหารอร่อยแบบคิดถึงแม่นั้นเป็นอย่างไร

ในแต่ละปี VC ทั้งหลายทุ่มเงินกับ Food Startup มากกว่าร้อยล้านเหรียญฯ อาทิ NuTek Salt เกลือที่ใช้โปแตสเซียมแทนโซเดียม Six Foods’ อาหารโปรตีนสูงที่ทำมาจากแมลง Real Food Blends อาหารสำหรับผู้ที่ต้องรับอาหารโดยผ่านสายยาง หรือแม้แต่ Freight Farms ตู้คอนเทนเนอร์ที่ให้คุณปลูกผักได้โดยมีการควบคุมผ่านระบบ Cloud ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสสูงทางด้านอาหาร สังเกตจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างก็มีธุรกิจอาหารเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น Startup ทั้งหลายรู้แล้วลงมือได้เลยครับ เพราะเรื่องกินเรื่องใหญ่เสมอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560