จีนโอกาสและความท้าทายของไทยในศตวรรษที่ 21

15 เม.ย. 2560 | 01:17 น.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า “New Normal” หรือ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง และเผชิญความไม่แน่นอนต่างๆ ในภูมิรัฐศาสตร์โลก (เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ Brix และนโยบายการค้าของสหรัฐฯ) ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศมาเน้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก และ มุ่งการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โดยไม่เน้นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนเกินไป ทั้งนี้การดำเนินนโยบายของนายสี จิ่น ผิง ประธานนาธิบดีจีน ผู้ซึ่งนิตยสาร Forbes คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิผลมากที่สุดในปี 2559 ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับประเด็นในเรื่องของ “โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ” (Economic Globalization) โดยจีนจะยังเปิดประตูการค้าและการลงทุนกับโลก โดยไม่ปิดกั้นต่อการลงทุนจากต่างประเทศและระบบการค้าเสรีรวมทั้งเดินหน้าผลักดันกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่อไป

ไทยเห็นศักยภาพและโอกาสต่างๆ ในประเทศจีน และเห็นว่ามีความร่วมมือในหลายด้านที่ไทยและจีนสามารถผลักดันร่วมกันได้ เช่น ในรูปแบบของการ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ทั้งนี้ในปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อให้ไทยก้าวข้ามปัญหาประเทศกับดักรายได้ปานกลาง โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนจีนก็มีแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ซึ่งเน้นเทคโนโลยี การผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม เช่น การใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะ การพัฒนาแพลตฟอร์ม Industrial Cloud และ Big Data เป็นต้น โดยเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง และนวัตกรรม แทนที่จะแข่งขันด้านราคาเหมือนที่เคยเป็นมา ซึ่งนโยบายของไทยและจีนถือว่ามีความสอดรับกัน และควรพัฒนาสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยสาขาความร่วมมือที่ไทยมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อาทิ การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการปรับปรุงห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้หากมองไปที่ Mega Trend ใหม่ของโลกแล้ว จะพบว่าประเทศจีนล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำ เช่น การเติบโตและขยายตัวของเมือง การซื้อสินค้าออนไลน์ ระบบขนส่งความเร็วสูงและโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ มีผู้บริโภคและมีประชากรวัยหนุ่มสาว  เป็นจำนวนมาก จึงเป็นพลังอำนาจที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้วางยุทธศาสตร์/แผนกิจกรรมในการเจาะตลาดจีน โดยคำนึงถึง Mega Trend ดังกล่าวข้างต้น ผ่านยุทธศาสตร์ ที่สำคัญ อาทิ

1.การขยายตลาดส่งออกโดยเน้นตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพของจีน เช่น หนานจิง อู่ฮั่น เซี่ยเหมิน เฉินตู และฉงชิ่ง เป็นต้น 2.การเจาะตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ผู้สูงอายุ คนทำงาน และสินค้าฮาลาล 3.การขยายตลาดโดยช่องทางออนไลน์ ณ นครเซี่ยงไฉ้ คุนหมิง หนานหนิง เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่นิยมใช้ระบบออนไลน์เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า และ4.การนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Top Thai Brand, The China ASEAN Expo

ในขณะที่ ผู้ประกอบการไทยก็สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ทำกับประเทศจีน ภายใต้กรอบ ASEAN-China FTA ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2548 ในส่วนของสินค้า กรกฎาคม 2550 ในส่วนของบริการ และกุมภาพันธ์ 2553 ในส่วนของการลงทุน ซึ่งภายใต้ FTA ดังกล่าว ทั้งไทยและจีน ลดภาษีเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด

อนึ่ง จีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในปี 2559 โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 2,324,384.51 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 833,857.71 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก และยางพารา เป็นต้น และการนำเข้า 1,490,526.80 ล้านบาท โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการค้าไทย-จีน ขยายตัวร้อยละ 4