รื้อกฎสหกรณ์สกัดหนี้เน่า

18 เม.ย. 2560 | 12:00 น.
กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมแก้กฎใหม่ให้สมาชิกเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ครบ 1 ปี จากเดิม 6 เดือน ที่เปิดช่องลูกหนี้ต่ออายุส่งผลหนี้เน่าต่ำจริง เดินหน้าสางข้อบกพร่องอีก 207แห่ง มูลค่ากว่า 5.5 พันล้านบาท

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่าหนี้เสียของสหกรณ์ทั้งระบบมีเพียง0.2% ซึ่งสาเหตุที่อยู่ในอัตราต่ำมาก เพราะสมาชิกที่ครบ 6เดือนจะสามารถเปลี่ยนสัญญากู้ใหม่เป็นการต่ออายุหนี้ได้ตลอดเวลา ทำให้ตัวเลขหนี้เสียของระบบสหกรณ์จึงน้อยโดยไม่สะท้อนหนี้คงค้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขเกณฑ์ให้สมาชิกเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ใหม่ได้เมื่อครบ 1 ปี

กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์ในระบบจำนวน 1,200 แห่ง มาตั้งแต่ปี2558ล่าสุด ณ 31 มีนาคม 2560 สามารถแก้ไขแล้วเสร็จ 993แห่ง มูลค่าธุรกรรมกว่า 2.88หมื่นล้านบาท คงเหลืออีก 207 แห่งมูลค่าธุรกรรม 5,850 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามระหว่างการดำเนินแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์ตามระบบการจัดการข้อบกพร่องนั้น พบสหกรณ์มีข้อบกพร่องเพิ่มขึ้นระหว่างเดือนจำนวน 20แห่ง โดยสามารถแก้ไขไปแล้ว 2แห่งคงเหลืออีก 18แห่ง

ขณะที่ลักษณะข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นใหม่มีความหลากหลาย เช่น เจ้าหน้าที่สหกรณ์ถอนเงินฝากของสมาชิกโดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ถอนเงินหรือรับฝากเงินจากสมาชิกแล้วไม่นำมาบันทึกบัญชี หรือการรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกและบุคคลภายนอกเป็นเงินสดแล้วนำไปจำหน่ายเป็นเงินเชื่อให้กับโรงสีแม้จัดทำสัญญาซื้อขายนำที่ดินจำนองก็ไม่ครอบคลุมวงเงินที่ซื้อเชื่อ มีการรับเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้าจากโรงสีโดยไม่มีธนาคารรับรองอาวัล

นอกจากนี้มีการสั่งซื้อสินค้าเกินความต้องการของสมาชิกทำให้สินค้าคงเหลือและมีความเสี่ยงจะเสื่อมสภาพ/จำหน่ายไม่ได้ การรับเงินฝากจากบุคคลภายนอก การไม่สามารถปิดบัญชีและส่งงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและนำเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติภายใน 150วัน

ตลอดจนสมาชิกสมทบเป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและนิติบุคคล รวมทั้งยังกำหนดระเบียบฯซื้อโทรศัพท์มือถือ-คอมพิวเตอร์ผ่อนส่งแก่คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างสหกรณ์ หรือเปิดสาขาโดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า สหกรณ์ที่มีข้อบกพร่องจริงๆมี จำนวน 760แห่ง จาก 8,230แห่งหรือประมาณแค่10% เท่านั้น โดยข้อบกพร่องทั้ง 760แห่งเป็นลักษณะของการที่สหกรณ์ไปทำธุรกิจนอกกรอบหรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์

ปัจจุบันหนี้เอ็นพีแอลของระบบสหกรณ์แค่อัตรา 0.2% ซึ่งสาเหตุที่อยู่ในอัตราต่ำมาก เพราะสมาชิกที่ครบ 6เดือนจะสามารถเปลี่ยนสัญญากู้ใหม่เป็นการต่ออายุหนี้ได้ตลอดเวลา ทำให้ตัวเลขหนี้เสียของระบบสหกรณ์จึงน้อยโดยไม่สะท้อนหนี้คงค้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขเกณฑ์เพื่อให้สมาชิกสามารถเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ใหม่เมื่อครบ 1ปี

“สหกรณ์ที่บกพร่องจริงๆก็ให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทุกจังหวัดเข้าไปแก้ไข เป็นพี่เลี้ยงถ้าสหกรณ์ไหนทุจริตก็จัดการเช่น ไล่ผู้จัดการ กรรมการหรือดำเนินคดีบ้าง แต่สหกรณ์ที่บกพร่องเพราะไม่รู้ระเบียบเราเข้าไปให้ความรู้และแก้ไขให้ถูกต้อง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560