แตกต่างแต่เหมือนกัน มนต์เสน่ห์ 4 ภาค สงกรานต์ไทย

13 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
“ความแตกต่าง” ทำให้โลกใบนี้มีสีสัน เกิดการขับเคลื่อนและไหลเวียนของผู้คนได้ไม่มีที่สิ้นสุด ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทย ทรรศนาจรขอเป็นตัวกลางพาทุกๆ ท่านไปยลมนต์เสนห์สงกรานต์ที่คงเอกลักษณ์อันโดดเด่นในแต่ละภูมิภาค ที่ไม่เพียงสะท้อนความแตกต่างของความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ที่อยู่ภายใต้เทศกาลเดียวกัน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อสร้าง “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ให้แข็งแกร่งเคียงคู่ประเพณีสงกรานต์ไทยสืบไป

ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมืองนครลำปางหรือสงกรานต์ลำปาง”สงกรานต์ล้านนา หรือ "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เมษายน) หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ โดยการยิงปืนและการจุดประทัด มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร

สำหรับประเพณี “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมืองนครลำปางหรือสงกรานต์ลำปาง จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-14 เมษายน ความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่งดงามดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้หลั่งไหลมาชื่นชมขบวนแห่ “สลุงหลวง” ภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายกับขันทำทำด้วยเงินสีขาว ในขบวนแห่จะมีเทพบุตรสลุงหลวงซึ่งมีการจัดประกวดชายผู้เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติและรูปสมบัติเป็นผู้อันเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์แจกจ่ายให้กับประชาชนที่ชมขบวนตลอดเส้นทาง “สลุงหลวง” ของชาวลำปาง ทำด้วยเงินหนัก 38 กิโลกรัม หรือ 2,533 บาท มีความกว้าง 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นจำนวนถึง 432,398 บาท เพื่อจัดสร้าง ขึ้นในปี 2533 มีการจารึกภาษาพื้นเมืองล้านนา อยู่บนขอบด้านนอกของสลุงหลวง มีข้อความว่า
MP-32-3253-4
“สลุงแก่นนี้จาวเมืองลำปางแป๋งต๋านไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้น ส้มป่อยสระสรงองค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า เวียงละกอนในวันปี๋ใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระศาสนา ฮอดเติงห้าปันวรรษา”

สะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง สลุงหลวง เพื่อใช้เป็นภาชนะใส่น้ำสรงพระแก้วมรกตดอนเต้า องค์พระศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คู่บ้านคู่เมืองลำปาง โดยจัดสร้างให้มีความใหญ่โตสมศักดิ์ศรี มีความแข็งแรง ทนทานสอดคล้องกับการใช้สอยในพิธีที่จัดขึ้น เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนชาวลำปางและเป็นการรักษาวัฒนธรรมให้สืบไป และเพื่อเป็นการสร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์ให้แก่เมืองลำปาง ให้เป็นสมบัติประจำเมืองสืบไป
ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน “รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย - ลาว จังหวัดนครพนม”

MP-32-3253-5 ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ "ตรุษสงกรานต์" และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 โดยจะมีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ ด้วยการนำเอาน้ำอบ น้ำหอมไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ มูลเหตุที่ทำเพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะปรารถนาสิ่งใดขอให้ได้สมหวัง

สำหรับงานบุญปีใหม่ไทย - ลาว จังหวัดนครพนม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายนนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสนห์ในงานผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน โดยจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่อำเภอเมืองนครพนม พร้อมชมการแข่งขันสะบ้าทอย พิธีตบปะทาย (ก่อเจดีย์ทราย) ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ และอิ่มอร่อยกับตลาดโบราณย้อนยุค ที่มาพร้อมกับเล่นน้ำสงกรานต์ 7 ชนเผ่า นอกจากนี้ที่ อำเภอเรณูนคร จะมีการฟ้อนรำผู้ไท (ภูไท) ที่มีความอ่อนช้อยงดงาม และความมีมนต์ขลังของพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน เพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน รวมทั้งขบวนแห่นางสงกรานต์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่งดงาม

MP-32-3253-1 ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง “สงกรานต์พระประแดง”
สงกรานต์พระประแดงหนึ่งประโยคในคำขวัญของจังหวัดสมุทรปราการ คือ ประเพณีอันดีงามที่สานต่อกันมาอย่างยาวนานตามแบบฉบับวิถีชาวรามัญ ซึ่งผืนแผ่นดินที่เป็นดั่งปอดของเขตปริมณฑลแห่งนี้มีความเป็นมาและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเพราะนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งพระนเรศวรได้ประกาศอิสรภาพ ชาวมอญจำนวนไม่น้อยได้เข้ามาพำนักพักพิงในดินแดนงสุวรรณภูมิแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวมอญได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางจังหวัดกาญจนบุรี และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชาวมอญอีกจำนวนมากเข้ามาขออาศัยพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่าน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้ชาวมอญทั้งหลายกระจายถิ่นฐานไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ อาทิ ปากเกร็ด ปทุมธานี และนครเชื่อนขันธ์หรืออำเภอพระประแดงในปัจจุบัน

การเข้ามาอยู่ของชาวรามัญนอกจากวิถีการปฏิบัติที่ดีงามทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและศาสนา ประเพณีคือสิ่งหนึ่งที่สร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นในชุมชน และได้รับการสานต่อจากอนุชนรุ่นหลังเดินทางผ่านห่วงกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติของสงกรานต์พระประแดงมีลักษณะที่คล้ายกับพิธีกรรมเลี้ยงผีเดือนห้าของศาสนาผีอยู่หลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การใช้น้ำทำความสะอาดบ้านเรือน การกวนกาละแม ข้าวเหนียวแดง ตลอดจนการทำบังสกุลหรือทำบุญกระดูกเพื่ออุทิศให้บรรพชน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ อย่างเช่น “การเล่นสะบ้า” อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวรามัญ ซึ่งการเล่นสะบ้ามี 2 ประเภท คือ สะบ้าประเภทเล่นกลางวัน เรียกว่า ทอยสะบ้าหัวช้าง และการเล่นสะบ้าบ่อนในตอนกลางคืน พร้อมกันนี้ในวันสงกรานต์จะมีการส่งข้าวสงกรานต์ หรือที่เรียกว่า “ข้าวแช่” ซึ่งแสดงออกถึงการอยู่เย็นเป็นสุขของชาวรามัญตลอดทั้งปี ทั้งนี้นอกจากการส่งข้าวสงกรานต์แล้วยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์ การจัดขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ และขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนสาวรามัญ–หนุ่มลอยชาย ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของประเพณีสงกรานต์ชาวรามัญ-ไทย หรือสงกรานต์พระประแดง

MP-32-3253-3 ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้ “ประเพณีแห่นางดาน”
ตามความเชื่อของประเพณีของภาคใต้ดั้งเดิม สงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง หนึ่งในพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของดินแดนใต้ ทรรศนาจรขอยก “ประเพณีแห่นางดาน” พิธีกรรมตามศรัทธาความเชื่อที่ผสมผสานคตินิยมทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีแห่นางดาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 4 พระองค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประสาทพรให้มนุษยโลกมีความสุขสบาย น้ำท่าบริบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล สำหรับ “นางดาน” นั้น หมายถึงเทพบริวารทั้ง 4 ที่แกะสลักอย่างประณีตบรรจงบนไม้กระดานขนาดกว้าง 1 ศอก สูง 4 ศอก จำนวน 3 แผ่นด้วยกัน
แผ่นแรกคือการหลอมรวมกันของพระอาทิตย์ หรือ “พระสุริยา” ผู้ให้แสงสว่าง ก่อเกิดวัฏจักรแด่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดูกาล มีคุณูปการต่อการดำรงชีวิตและการอยู่รอดของสรรพสัตว์ กับ พระจันทร์ หรือ “รัชนีกร” เทพผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อนและผสมพันธุ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

แผ่นที่สองคือ “พระแม่ธรณี” เทพผู้สะสมคุณงามความดีทั้งปวง เทพผู้รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งที่พระอิศวรสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่ เป็นเสมือนพระมารดาของเทพทั้งหลาย

แผ่นที่สาม “พระแม่คงคา” เทพผู้อำนวยความชุมฉ่ำสมบูรณ์ให้กับทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้

ประเพณีแห่งนางดานจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายนนี้เท่านั้น

MP-32-3253-2 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560