ทิ้งค่าฟีโอนเงิน15% พร้อมเพย์ทุบแบงก์ นิติฯเมินใช้บริการ

17 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประเมิน พร้อมเพย์ กระทบรายได้ค่าธรรมเนียม เผยแบงก์ใหญ่กุมสัดส่วนค่าต๋ง12-15% คาดเห็นชัดเจนปี 2561 ส่วนนิติบุคคลเมินใช้ระบบโอนเงินแบบใหม่ ยอมควัก 250 บาท โอนเงินบาทเนต หรือ เงินสด
ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ "National e-Payment" เพื่อให้ประเทศไทยเดินเข้าสู่เป้าหมายสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยเริ่มจากโครงการโอนรับเงินรูปแบบใหม่ (Promptpay) หลังจากภาครัฐกระตุ้นพร้อมเพย์ระหว่างบุคคลเฟสแรกไปแล้ว ซึ่งเริ่มเห็นปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ และต่อเนื่องมาถึงการผูกพร้อมเพย์นิติบุคคลดีเดย์เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

[caption id="attachment_140826" align="aligncenter" width="436"] ทิ้งค่าฟีโอนเงิน15% พร้อมเพย์ทุบแบงก์ นิติฯเมินใช้บริการ ทิ้งค่าฟีโอนเงิน15% พร้อมเพย์ทุบแบงก์ นิติฯเมินใช้บริการ[/caption]

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดค่าธรรมเนียมดึงลูกค้านิติบุคคลหันมาผูกบัญชี โดยยอดโอนเงินต่ำกว่า 1 แสนบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาท และยอดโอนเกิน 1 แสนบาท อัตราค่าธรรมเนียมไม่เกิน 15 บาท และกรณีที่ลูกค้าบุคคลโอนเงินให้นิติบุคคลให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมในส่วนของบุคคล

ศูนย์วิเคราะห์และธนาคารพาณิชย์ต่างประเมินผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะหายไปกับโครงการพร้อมเพย์เกิดขึ้นแน่ จะช้าจะเร็วขึ้นกับลูกค้าบุคคลและนิติบุคคลยอมใช้พร้อมเพย์มากน้อยแค่ไหนแต่ดูแล้วยังค่อนข้างอืด
นิติบุคคลที่ยังนิยมการโอนเงินรูปแบบเดิม ทั้ง บาทเนต เขียนเช็ค หรือโอนโดยตรงถึงผู้รับผลต่อรายได้แบงก์จึงต้องรอติดตามกันยาวๆแต่คาดว่าในกรณีผู้ใช้เปิดรับพร้อมเพย์ 60% คาดกระทบต่อรายได้แบงก์ประมาณ 3,100-3,600 ล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (ทีเอ็มบี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมรายได้ของธนาคารพาณิชย์จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ รายได้จากอัตราดอกเบี้ยประมาณ 60% และรายได้ค่าธรรมเนียม 40%

[caption id="attachment_140818" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา นริศ สถาผลเดชา[/caption]

ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียม จะมีรายได้ที่มาจากธุรกรรมการเงินประมาณ 50% ซึ่งมาจาก 3 ธุรกรรมสำคัญ คือ 1.บัตรเครดิต ประมาณ 20% ของรายได้ธุรกรรมการเงิน 2.เอทีเอ็ม/ E-Banking ประมาณ 18% และ 3.การโอนเงินอีกประมาณ 12-15%

ดังนั้นการประเมินผลกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมภายใต้พร้อมเพย์ ที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดา-นิติบุคคล เชื่อว่าผลกระทบยังคงไม่ได้ชัดเจนในปีนี้ แต่จะเริ่มเห็นในปี 2561 หลังจากมีเรื่องของ e-Tax และ e-Invoice เข้ามา รายได้ที่จะโดนกระทบโดยตรงจากธุรกรรมพร้อมเพย์จะอยู่ในส่วนของรายได้การโอนเงินที่มีสัดส่วนประมาณ 12-15%

ทั้งนี้หากประเมินจะพบว่าใน 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะพึ่งพารายได้ที่เกิดจากธุรกรรมโอนเงินประมาณ 40-60% เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กสัดส่วนจะอยู่เพียงประมาณ 20% ทำให้ผลกระทบจากพร้อมเพย์จะกระทบตามสัดส่วนการพึ่งพารายได้ในส่วนนี้

“ตอนนี้ผลต่อรายได้คงยังไม่ชัดเจนมากนัก และยังไม่เห็นผลภายในปีนี้ เพราะต้องรอให้คนเริ่มใช้และทำธุรกรรมมากขึ้นหลังจากเกิดความคุ้นชิน แต่เราคงไม่ได้เดินเร็วเหมือนประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ใช้เงินสดเพียง 20-30% นอกนั้นเป็นการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากบ้านเรามีทางเลือกค่อนข้างเยอะทั้งสาขาธนาคารและตู้เอทีเอ็ม จึงจะเห็นสัดส่วนที่ถูกกระทบยังไม่ชัดเจน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า รายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินและการเรียกเก็บเงินคิดเป็นสัดส่วนราว 11.9% ของรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารทั้งระบบ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวประมาณ 5% เป็นรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพร้อมเพย์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.4% ของรายได้รวมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าธนาคารจะรับผลกระทบพร้อมเพย์ของนิติบุคคลชัดเจนขึ้น จากการที่ภาคธุรกิจใช้การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์นิติบุคคล แทนการโอนเงินผ่านบาทเนต หรือการใช้เช็คเงินสด ซึ่งกระทบต่อค่าธรรมเนียมของธนาคารเกี่ยวกับด้านดังกล่าวหายไปค่อนข้างมาก

“ค่าธรรมเนียมการโอนเงินบาทเน็ตเริ่มต้นที่250 บาทต่อรายการ ถ้าประชาชนและธุรกิจหันไปใช้พร้อมเพย์คาดว่ากระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมหายไปราว 4% ในปีนี้”

 "นิติบุคคล" เมินพร้อมเพย์
นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Strategy Officerธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การผูกบัญชีพร้อมเพย์ฝั่งนิติบุคคลยังน้อย เมื่อเทียบกับนิติบุคคลที่มีอยู่ในระบบคาดว่าไม่ถึง 10% ที่ผูกบัญชี ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกธนาคารเนื่องจากการโอนเงิน-รับเงินกับลูกค้าหรือคู่ค้าอาจจะมีอยู่แล้ว หรือการกรอกรหัสเลขหมาย Tax ID 13 หลัก ค่อนข้างยุ่งยาก แต่ในอนาคตหากทำเป็นระบบ QR Code อาจจะช่วยกระตุ้นให้นิติบุคคลหันมาผูกบัญชีเพิ่มขึ้นได้

“หากลูกค้านิติบุคคลหันมาใช้การโอนเงิน-รับเงินผ่านพร้อมเพย์มากขึ้นจะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมพอสมควร จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปีหน้า”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า รายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้จะกระทบระดับหนึ่ง หากมีคนใช้และมีธุรกรรมเพิ่มขึ้น 20-30% แต่หากลูกค้าเข้าใจและธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึง 50% อาจเห็นผลกระทบต่อรายได้ชัดชึ้น