เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย มงคลปีใหม่ไทย 4 ภาค

13 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
นอกจากการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ใน 14 พื้นที่เอกลักษณ์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)แล้ว ยังมีอีกไฮไลต์สงกรานต์แบบวิถีไทย ที่น่าสนใจ คือ “Water Festival 2017 เทศกาลวิถีน้ำ....วิถีไทย”ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายนนี้ ภาคใต้แนวคิด “มงคลปีใหม่ไทย” รณรงค์ความสนุกอย่างดีงาม

++ขยายพื้นที่จัดงาน4 ภาค
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานการจัดงานสงกรานต์“Water Festival 2017 เทศกาลวิถีน้ำ....วิถีไทย” เผยว่า ปีนี้เราได้ขยายพื้นที่จัดงานให้ครอบคลุม 4 ภาคของไทย โดยคง 3 พื้นที่เดิม คือ ภาคกลาง ในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ที่จ.เชียงใหม่ ภาคใต้ ที่ภูเก็ต แต่จะย้ายสถานที่จัดงานจากเดิมอยู่หาดป่าตองมาอยู่ที่ถนนพังงา และปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ขยายพื้นที่จัดงาน มายังภาคอีสาน คือ จ.อุดรธานี ซึ่งการจัดงานในปีนี้เราต้องการบอกเล่าความเป็นไทย ไปทั่วโลก เพื่อตอกย้ำแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยววิถีไทยให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมเรียนรู้และสืบสานประเพณีอันดีงาม

ไฮไลต์การจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆนั้น ในส่วนของพื้นที่ “บ้านโบราณเชียงใหม่”จะเป็นการจัดประเพณีปี๋ใหม่เมืองและสงกรานต์รูปแบบดั้งเดิมของล้านนา โดยจำลองและสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ในช่วงปี2410 เช่น ลานทรายข่วงหลวงมีกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทรายกาดหมั้วครัวฮอม ลานข่วงฮิมน้ำ สำหรับขันโตก ชมการแสดงแสงเสียงริมลำน้ำปิง

ส่วนการจัดงานในพื้นที่ “ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง” จ.อุดรธานี จะมีพิธีตักบาตรของชาวไทพวน ลานวัฒนธรรมวิถีไทพวน กิจกรรมปั่นเพลิน มรดกโลก ที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานชมสถานที่ต่างๆภายในชุมชนบ้านเชียง ตลาดนัดชุมชนถนนของดีบ้านเชียง เป็นต้น

สำหรับในพื้นที่จ.ภูเก็ต จะจัดที่ “ถนนพังงา” เมืองเก่า ซึ่งเป็นปีแรกที่ชุมชนได้ร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต จัดงานเทศกาลสงกรานต์นี้ ภายใต้แนวคิด “ภูเก็ตดีงาม สืบสานสงกรานต์ บาบ๋า” ที่จะเชิญชวนชาวภูเก็ตร่วมกันแต่งชุดพื้นเมือง ร่วมพิธีสวดเจริญพุทธมนต์ สรงน้ำพระพุทธสิงหิงค์นิทรรศการอาหารและขนมมงคลขึ้นชื่อในท้องถิ่น นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน และกิจกรรมต่างๆของชุมชนทั้งยังนำสับปะรดภูเก็ตที่มาจากโครงการประชารัฐมาเป็นส่วนผสม โดยชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารนครภูเก็ตอีกด้วย

++ชูจุดเด่น 7 พิ้นที่ริมเจ้าพระยา
ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯนักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือด่วนเจ้าพระยาที่ให้บริการฟรีไปยัง 7 พื้นที่ริมโค้งน้ำที่ยาวที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆพร้อมไหว้พระขอพรใน 4 วัด 4 มงคล 3 ท่าน้ำ(แผนที่ประกอบ) ที่จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวไม่พลาดกับการไหว้พระบาทมงคล 108 ที่”วัดโพธิ์” เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต ซึ่งพระบาทมงคลแต่ละข้าง มีลวดลายประดับมุกจากสองช่างฝีมือดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ถ้าเป็นมงคลรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ ผู้จัดงาน แนะนำให้ไปสักการะหลวงพ่อรุ่งอรุณ และพระปรางค์ “วัดอรุณ”เพื่อความรุ่งเรืองส่วนมงคลด้านมิตรสหาย และด้านการค้าขาย ต้องไปสักการะพระพุทธไตรรัตนนายก(หลวงพ่อโต) และพระปางป่าเลไลย์(พระราหู) ณ “วัดกัลยาณมิตรฯ” และหากเป็นมงคลการพูด การเจรจา การงาน แวะไปสักการะพระพุทธวิเชษฐศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ และสักการะหลวงพ่อพุทธนาค ที่ “วัดประยุรวงศาวาสฯ”

ขณะที่กิจกรรมใน 3 ท่าน้ำนั้น “ท่ามหาราช” มีกิจกรรมสรงน้ำพระ กิจกรรมเวิร์คช็อปศิลปะ“ยอดพามาน ริเวอร์วอล์ค” มีกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปจำลองจาก 9 วัดทั่วไทย “เอเชียทีคเดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์”จะมีพิธีมงคล มหาสงกรานต์2560 ที่จะมีศาลามงคล 4 ศาลา ได้แก่ มงคลที่ 1 ยามมงคล (ดูฤกษ์ยาม/เวลามงคล/ดูดวง12 นักษัตร) มงคลที่ 2 อาหารมงคล 4 ภาค มงคลที่3 อยู่มงคล(การตกแต่งบ้าน/จัดฮวงจุ้ย)และมงคลที่ 4 ใจมงคล(เครื่องประดับเสริมดวงชะตา/การทำบายศรี/การทำบุญแบบต่างๆ) ทั้งในงานยังมีนิทรรศการผ้าขาวม้า ย้อนอดีตไปกับซุ้มเกมส์งานวัด คอนเสิร์ตจากศิลปินดังทุกค่ำคืน เช่น ลิปตา

++ พ่วงประชารัฐเอื้อชุมชน
อีกทั้งในแต่ละพื้นที่จัดงาน ยังได้นำเมนูเด็ดจากร้านดัง และของดีชุมชนเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมออกร้าน หรือ “มหกรรมตลาดนัดประชารัฐ” เพื่อหวังเชื่อมโยงกับเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนกระตุ้นการจับจ่าย นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผ้าขาวม้าประจำท้องถิ่น ที่ตัดเย็บจากชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย”ที่จัดโดยบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด มาประดับตกแต่ง และออกร้าน เพื่อเป็นสีสันให้กับงานนี้ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ในฐานะที่คุณ “ฐาปน” รับบทเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐนั่นเอง เช่นจำนวนร้านค้าชุมชนที่จะมาออกร้าน ที่วัดโพธิ์ จะอยู่ที่กว่า 60 ร้าน ส่วนที่วัดประยุรวงศาวาส มี 80 ร้านค้า เอเชีย ทีค มี 60 ร้านค้า

ไม่เพียงดึงชุมชนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเท่านั้น แต่งานนี้ยังช่วยผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวใน 7 พื้นที่รอบริมโค้งน้ำที่ยาวที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย โดยจากข้อมูลของ 4 วัดในพื้นที่ พบว่า การจัดเทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” มีส่วนทำให้คนไทยและชาวต่างชาติ เข้าวัดเพิ่มมากอย่างมีนัยสำคัญ

อย่าง วัดโพธิ์ ช่วงวันธรรมดา มีคนมาไหว้พระวันละราว 4-5 หมื่นคนตามจำนวนตั๋ว ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ไม่รวมคนไทยที่จะเฉลี่ยราว 2-3 พันคนต่อวัน แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในปีที่ผ่านๆมา อยู่ที่ราว 1.5 แสน-1.6 แสนคน(ต่างชาติ) ในส่วนของคนไทยอยู่ที่ 2-3 หมื่นคนต่อวัน วัดกัลยาฯ ช่วงวันธรรมดาอยู่ที่ราว 400-500 คน ช่วงเทศกาลนี้จะขึ้นมาราวหมื่นกว่าคน วัดจากจำนวนคนที่มาทางเรือ เป็นต้น

อีกทั้งยังจะมีกิจกรรม “ฝรั่ง Like ไทยพาเที่ยว” เป็นกิจกรรมกระตุ้นให้คนไทยบอกเล่าความเป็นไทยสู่ชาวต่างชาติ โดยกลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ และคนไทยที่มีเพื่อนต่างชาติหรืออยากมาช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทย

รวมถึงการจัดประกวด“โครงการเยาวชนเจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม” เน้นปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนมีความรัก หวงแหนในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทย พร้อมจัดอบรมเพิ่มทักษะให้เยาวชนจากโครงการ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวดีๆของชุมชนตนเอง และกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสีสันการท่องเที่ยวเทศกาล วีถีน้ำ...วิถีไทย ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ได้ร่วมสัมผัสกลิ่นอายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบวิถีไทย ที่โอบล้อมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทยนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560