ทรรศนะทางตรง : รวบรัด รีบร้อน เอาใจฝรั่ง

07 เม.ย. 2560 | 12:59 น.
ทรรศนะทางตรง

โดย : โจรสลัด…อันดามัน
รวบรัด รีบร้อน เอาใจฝรั่ง 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ทั้งในส่วนของการจดทะเบียนหุ้นส่วน/บริษัท, คุ้มครองเเรงงาน, ล้มละลาย, ประมง ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

หลักใหญ่ใจความของคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สืบเนื่องจากรายงานผลการจัดอันดับความยากง่าย ในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ซึ่งประเทศไทยรั้งอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 190 ประเทศ รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาการเข้าถึงการประกอบธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มโอกาสในการเป็นแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ยกเลิกความในมาตรา 100 แห่งพ.ร.บ. บริษัทมหาชน เเละใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 100 ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จะเข้าชื่อทําหนังสือขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ … เเละต้องจัดให้มีการประชุมภายใน 45 วัน… ซึ่งผู้ถือหุ้นเข้าชื่อกันได้จํานวนหุ้นตามที่บังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้ ภายใน 45 วัน ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าเป็นการประชุม”

“ยกเลิกความในมาตรา 128 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 128 ผู้ถือหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จะเข้าชื่อให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเพื่อดําเนินการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท ตลอดจนตรวจสอบการดําเนินงาน …”

คำสั่งยังแก้ไข พ.ร.บ. ล้มละลาย  “มาตรา 90/46 มติยอมรับแผนต้องเป็นไปดังนี้ (1) มีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น หรือ (2) ที่ประชุมเจ้าหนี้อย่างน้อย1กลุ่ม มีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และเมื่อนับรวมจํานวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนในที่ประชุมแล้วมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ50…”

รัฐบาลอ้างถึงความจำเป็นและลดแรงกดดันการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก เร่งรัดแก้ไขก่อนรัฐธรรมนูญถาวรประกาศใช้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ก่อนออกกฎหมายใหม่ ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น การวิเคราะห์ต่อประชาชนในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

จริงอยู่ที่กฎหมายบางฉบับที่แก้ในครั้งนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน  เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องหุ้นส่วนบริษัท เพื่อแก้ไขปัญหาทางปฏิบัติ เช่น เดิมจดทะเบียนข้ามเขต(ข้ามจังหวัด)ไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ต้องจดกับนายทะเบียนในจังหวัดที่จดเท่านั้น ทำเสียเวลา เพิ่มต้นทุน

แต่กรณีแก้กฎหมายบริษัทมหาชน จำกัด เรื่องการคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่มีสิทธิเรียกประชุมผู้ถือหุ้นได้ ฉบับนี้อาจหมิ่นเหม่ในการกระทบสิทธิและการทำธุรกิจของภาคเอกชนได้  น่าที่จะต้องมีความเห็นที่หลากหลายและได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ยอมรับร่วมกัน

การบริหารราชการบ้านเมือง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ต้องมาจากวิสัยทัศน์หรือมองการณ์ไกลของผู้บริหาร ไม่ควรเกิดจากเต้นปฏิบัติไปตามคำบอกต่างชาติ เพื่อหวังได้แต้มได้เลื่อนอันดับเท่านั้น

ข้าราชการที่เป็นต้นเรื่องของการเสนอแก้ไข กฎหมายแต่ละฉบับ จะต้องรายงานข้อมูล เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนอย่างรอบคอบ ครบถ้วน เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องของนายกฯ ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายที่ออกมาแต่ละฉบับกระทบสังคมในวงกว้าง ต้องให้สภาฯได้มีโอกาสถกเถียง แม้จะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งมาก็ตาม แต่ควรจะต้องเดินตามกระบวนการ  ไม่ใช่เอะอะ ก็ขอใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เร่งรัด รวดเร็วไม่คำนึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้าน

เหมือน ม.44แก้จราจรและขนส่ง ที่คนร้องระงมกันทั้งบ้านทั้งเมืองในห้วงเวลานี้…..

คอลัมน์ :  ทรรศนะทางตรง /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3251 ระหว่างวันที่ 9- 12 เม.ย.2560