อู่ติดตั้งถังก๊าซฯตายสนิท เบนเข็มปรับตัวรับรถยนต์ไฟฟ้า-วอนรัฐอย่าซ้ำรอยE85

12 เม.ย. 2560 | 09:00 น.
อู่ติดตั้งก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวีดิ้นตาย ล่าสุดมีไม่ถึง 100 แห่ง เล็งปรับกิจการเกาะกระแสรถยนต์ไฟฟ้าแค่รอความชัดเจนจากภาครัฐ สมาคมฯ หวั่นเป็นหมันเหมือนรถยนต์อี 85แนะรัฐใช้เงินกองทุนนํ้ามันฯพยุงราคาเอ็นจีวีไม่ให้สูงขึ้นประคองยอดติดตั้งในกลุ่มรถบรรทุก

นายสุรศักดิ์ นิตติวัฒน์นายกสมาคมธุรกิจก๊าซรถยนต์ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าผลกระทบจากราคานํ้ามันตกตํ่าและราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอู่ติดตั้งถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ไม่ถึง 100 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ยอดติดตั้งลดลงอย่างมากเหลือเพียง 100 คันต่อเดือนเท่านั้น เทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8 พัน -1 หมื่นคันต่อเดือน และรถยนต์ที่ติดตั้งถังก๊าซส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มแท็กซี่และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลได้ทยอยถอดถังออก ส่งผลให้ผู้ประกอบการอู่เพื่อติดตั้งถังก๊าซในรถยนต์ต้องยกเลิกกิจการ หรือบางรายปรับกิจการเป็นซ่อมบำรุง ไดนาโมและช่วงล่างแทน

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)ของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการอู่ติดตั้งถังก๊าซบางรายสนใจจะปรับธุรกิจมารองรับรถยนต์อีวีมากขึ้น แต่คงต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน แม้ว่าในช่วงนี้ภาครัฐจะโหมส่งเสริมรถยนต์อีวี รวมทั้งการเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากกังวลว่าอาจเหมือนกับกรณีรถยนต์แก๊สโซฮอล์อี85 ซึ่งที่ผ่านมารัฐมีท่าทีส่งเสริมเต็มที่ แต่เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง การส่งเสริมก็เงียบไป แม้ว่าจะใช้เงินจากกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาแก๊สโซฮอล์อี 85 อยู่ที่ 8บาทต่อลิตร แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก

“ตอนนี้ผู้ประกอบการอู่ติดตั้งถังก๊าซเหลือน้อยมาก ไม่เกิน 100 รายทั่วประเทศ ทำให้ต้องปรับไปทำกิจการอย่างอื่นแทน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนมาทำกิจการที่รองรับรถยนต์ไฟฟ้าแต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นอีวี ต้องถอดเครื่องเก่าออก ต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าติดตั้งถังก๊าซ โดยราคาติดตั้งรถยนต์อีวีอยู่ที่กว่า 4 แสนบาทต่อคัน เทียบกับการติดตั้งก๊าซเพียง 3 หมื่นบาทต่อคัน ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ทำให้เห็นแล้วว่าสามารถนำรถยนต์เก่ามาดัดแปลงได้ แต่ด้วยราคาต้นทุนที่สูงจึงไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น ภาครัฐควรออกกฎหมายเพื่อนำเงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องมาเป็นรถยนต์อีวี50% ของต้นทุนติดตั้งหากสามารถทำได้ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาทำกิจการดังกล่าวมากขึ้นซึ่งใน 2 ปีน่าจะเห็นชัดเจนขึ้น”

นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่าอีกทั้งทางสมาคมต้องการให้กระทรวงพลังงานพิจารณา เพื่อนำเงินจากกองทุนนํ้ามันฯ มาพยุงราคาก๊าซเอ็นจีวีไม่ให้สูงขึ้นปัจจุบันอยู่ที่ 13.20 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มรถบรรทุก รวมทั้งช่วยผู้ประกอบการอู่ติดตั้งถังก๊าซที่ยังสามารถประคองกิจการได้ ให้มีงานทำจากราคาก๊าซที่ปรับลงมา

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และต้องการให้มีฐานการผลิตในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีความชัดเจนเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าแล้ว ขณะนี้มีแล้วกว่า 70 แห่ง และจะเพิ่มเป็น150 แห่งภายในสิ้นปีนี้

สำหรับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศภายในปี 2579 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านคัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PluginHybrid Electric Vehicle) และยานยนต์ไฟฟา้ แบตเตอรี่ (BatteryElectric Vehicle) โดยมีแผนการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อเป็นสถานีนำร่องรองรับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560