พาณิชย์เร่งหามาตราการรองรับหลังทรัมป์ประกาศไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า

04 เม.ย. 2560 | 11:06 น.
พาณิชย์ ตื่นเร่งประชุมฝ่ายบริหาร ก่อนนัดถกเอกชน 10 – 11 เม.ย. วางมาตราการรองรับหลังทรัมป์ ประกาศกร้าวว่าไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุล

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่า ขณะนี้กระทรวงได้มีการประชุมระดับบริหารเพื่อวางมาตรการรองรับหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาประกาศกร้าวว่าไทยเป็น 1ใน 16 ประเทศที่สหรัฐขาดดุล โดยขณะนี้ทุกฝ่ายได้เร่งจัดเตรียมข้อมูลเพื่อจัดหมวดหมู่สินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนจะนัดหารือกับภาคเอกชนเจาะรายอุตสาหกรรมสำคัญในช่วงวันที่ 10 – 11 เม.ย.นี้  ทั้งนี้ประชุมเวทีการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นเวทีที่มีการกำหนดกรอบการหารือมานานแล้วและไม่ได้มีการหารือในเรื่องของคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อคู่ค้า 16 ประเทศ แต่เป็นการหารือในเรื่องของการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) การออกกฎหมายใหม่ รวมทั้งมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)

ปัจจุบันสหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2559 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่า 36,551 ล้านดอลลาร์ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 24,494 ล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่านำเข้า 12,057 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามบรรยากาศการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council: TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ประจำปี 2560 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตัวแทนของทางสหรัฐฯ คือ นางบาร์บารา ไวซีล ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้นำคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุม

โดยประเด็นการหารือส่วนใหญ่เป็นการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลของไทยในหลายเรื่อง อาทิ การคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ รวมทั้งผลักดันให้สหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มเติมสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)  รวมทั้งประเด็นด้านการสินค้าเกษตรและมาตรการที่เกี่ยวข้องของไทย แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่เป็นรูปธรรมนัก โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมินทรัพย์สินทางปัญญาและการจดสิทธิบัตรที่ยังล่าช้า