จ่อบังคับใช้เกษตรพันธะสัญญา สนช.ไฟเขียว-‘ฉัตรชัย’เร่งก.ม.ลูกสร้างเป็นธรรม

03 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
สนช.ไฟเขียวเห็นชอบกฎหมายเกษตรพันธะสัญญา รอประกาศในราชกิจจาฯ มีผลบังคับใช้ “ฉัตรชัย” เผยออกกฎหมายลูกรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว มั่นใจวิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย บิ๊กเบทาโกร เชียร์กฎหมายใหม่เกษตรกร-ผู้ประกอบการเติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทางพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสนอขอถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากระเบียบวาระการประชุมเพื่อกลับไปทบทวนใหม่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ล่าสุดที่ประชุม สนช.ได้มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว

พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ คณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"โดยย้ำว่า พ.ร.บ ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของ สนช.เรียบร้อยแล้ว และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปออกกฎหมายลูกโดยดำเนินการออกเป็นประกาศหรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างมาก และหวังว่าทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้ความสำคัญเร่งระเบียบออกมาเพื่อคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการก็จะได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีหากเกิดมีกรณีพิพาทระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ จะมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ย แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าแต่ละฝ่ายยังมีข้อขัดแย้ง ไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายคือให้ศาลพิจารณาตัดสินชี้ขาดว่าใครผิดใครถูกที่ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. ... สาระสำคัญจะมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธะสัญญา จะทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนบริษัทที่จะเข้าร่วมจะต้องมาขึ้นทะเบียน หลังจากนั้นก็ต้องแจ้งเงื่อนไขล่วงหน้าก่อนที่เกษตรกรจะมาทำสัญญาร่วมกัน 2.คณะกรรมการไกล่เกลี่ย ในกรุงเทพฯ ได้กำหนดให้ปลัดเกษตรเป็นประธานคณะกรรมการ หากเป็นระดับจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อย่างไรก็ดีในระหว่างนี้ทางกระทรวงได้ทำร่างกฎหมายลูก เตรียมไว้รองรับแล้ว

"โดยหลักการก็คือ หากบริษัทใดจะเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญา จะต้องทำเงื่อนไขแล้วประกาศ เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นเงื่อนไขก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรรับทราบก่อนจะทำสัญญาโดยมีกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการเป็นกลางโดยให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร"

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเบทาโกร เผยว่า ปัจจุบันทางเครือมีการทำสัญญากับเกษตรกรกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ มีทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าจะเป็นธรรมทุกฝ่าย ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้คำนึงถึงว่าเกษตรกรเป็นเพียงคู่สัญญาเพียงอย่างเดียว และยังให้ใจต่อเกษตรกรและให้ความสำคัญเปรียบเสมือนเป็นญาติพี่น้อง และหวังจะร่วมกันทำงานเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายเติบโตและก้าวไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ พ.ร.บ.นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560