ทันตแพทย์ 15 องค์กร จี้ รมว.วท.เร่งออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์จากกม.พลังงานนิวเคลียร์

30 มี.ค. 2560 | 09:26 น.
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า วันนี้ (30 มี.ค.) ทันตแพทยสภา สมาคม ชมรมและองค์กรต่าง ๆ 15 องค์กร ในวิชาชีพทันตกรรมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้เครือข่ายมีความเห็นร่วมกันว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 จะส่งผลกระทบต่อทันตแพทย์และประชาชนผู้รับบริการทันตกรรมอย่างมาก ถึงแม้ว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ แต่กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมเครื่องกำเนิดรังสีวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์ จึงส่งผลกระทบถึงเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมและเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ด้วย

กฎหมายนี้มีความเข้มงวดและมีโทษที่รุนแรง โดยระบุให้ผู้ครอบครองเครื่องหรือผู้ใช้เครื่องกำเนิดรังสี ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ครอบครองเครื่องกำเนิดรังสีต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีปฎิบัติหน้าที่ในสถานที่ทำการของผู้รับใบอนุญาตอย่างน้อยหนึ่งคนประจำตลอดเวลาทำการโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรง ไม่เป็นธรรมต่อทันตแพทย์และผู้ใช้เครื่องกำเนิดรังสี กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการทางทันตกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในด้านความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันตแพทย์ใช้ประกอบในการวินิจฉัยโรคทางทันตกรรม เป็นเครื่องกำเนิดรังสีขนาดเล็กที่มีปริมาณรังสีต่ำมีใช้ในคลินิกทันตกรรมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยไม่ปรากฏถึงอันตรายร้ายแรงต่อประชาชนผู้รับบริการ ผู้ใช้เครื่องและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเครื่องมือนี้ไม่ได้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อแต่ใช้ตามความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และใช้ด้วยความระมัดระวังตามมาตรฐานความปลอดภัยอยู่แล้ว การกำกับควบคุมเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับสารกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์ตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากไม่ก่อให้เกิดความปลอดภัยในทางรังสีเพิ่มขึ้นแต่อย่างไรแล้วในทางกลับกันจะทำให้เกิดความยากลำบาก เกิดความวิตกกังวลของผู้ใช้เครื่องกำเนิดรังสี และเป็นการเพิ่มภาระในระบบบริการทันตกรรมโดยไม่จำเป็นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ

ด้วยเหตุนี้ทันตแพทยสภา สมาคมชมรมต่าง ๆ ในวิชาชีพด้านทันตกรรมจึงมีมติร่วมกันเรียกร้องให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกกฎกระทรวงกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 โดยให้เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม มีการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรที่เคยกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีมาอยู่แล้ว ส่วนมาตรฐานการใช้เครื่องให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้รับบริการทันตแพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรผู้ควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานของแพทย์เป็นผู้ควบคุมดูแลให้ได้มาตรฐานให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน

“ทันตแพทยสภา สมาคม ชมรมและองค์กรต่างๆ ในวิชาชีพทันตกรรมสนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขต่อผลกระทบที่อาจจะได้รับจากปริมาณรังสี แม้ว่าที่ผ่านมาในกระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยเชิญสภาวิชาชีพทางการแพทย์เข้าร่วมในการพิจารณาหรือสอบถามความเห็นแต่อย่างใด” ทพ.ไพศาล กล่าว

ทั้งนี้เครือข่าย 15 องค์กรดังกล่าวประกอบด้วย

1.       ทันตแพทยสภา

2.       ชมรมทันตอาสา

3.       ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย

4.       ชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป

5.       ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

6.       ชมรมทันตภูธร

7.       สมาคมศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

8.       ชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย

9.       สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย

10.    ชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน

11.    สมาคมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย

12.    คณะกรรมการทันตสาธารณสุขภาคใต้

13.    ชมรมวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปากแห่งประเทศไทย

14.    มูลนิธิทันตแพทย์เอกชนไทย

15.    ชมรมรอยโรคช่องปากแห่งประเทศไทย