ผ่าแผน‘ภูเก็ตโมเดล’ ยกเครื่องสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

25 มี.ค. 2560 | 10:00 น.
การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ที่สร้างรายได้ให้จังหวัดปีละกว่า 3.41 แสนล้านบาท ในวันนี้ต้องแลกกับความเสื่อมโทรม แออัด และปัญหาต่างๆในพื้นที่ที่ไร้ซึ่งการจัดระเบียบและการบริหารที่ดี หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของการท่องเที่ยวภูเก็ตนี่เองจึงทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมผลักดันวิสัยทัศน์การพัฒนาจ.ภูเก็ต ในระยะยาว (ปี2561-2564) ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบ ที่จะยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวนานาชาติอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่จะสร้างให้ภูเก็ตเป็นควอลิตี้ เลเชอร์ เดสติเนชัน

 วาง 5 เป้าหมายแผนพัฒนา

ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดใจถึงเป้าหมายการพัฒนาภูเก็ตในระยะยาวว่า จะผลักดันใน 5 เป้าหมายให้เกิดขึ้นในพื้นที่ นั่นก็คือ 1. ขับเคลื่อนให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล หรือ มารีน่า ฮับ 2.ศูนย์กลางทางการแพทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา หรือเมดิคัล ฮับ3.ศูนย์กลางไมซ์ ซิตี ของอันดามัน 4.ศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและศูนย์การศึกษานานาชาติ (Manpower Development) และ 5. เมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่มีความทันสมัยในทุกด้าน หรือ สมาร์ท ซิตี

ทั้งนี้การจะผลักดันเป้าหมายดังกล่าว หากจะดูในแง่ของศักยภาพในพื้นที่ ถือว่ามีความเป็นได้ เพราะวันนี้ปริมาณเที่ยวบินเข้าสนามบินภูเก็ตและนักท่องเที่ยวมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการปรับปรุงท่า

อากาศยานก็เพิ่มการรองรับให้มากขึ้น ซึ่งสถิติเที่ยวบินต่อปีอยู่ที่ 84,750 เที่ยว หรือวันละ 232 เที่ยว ปัจจุบันมีสายการบินประจำ 41 สายการบิน และสายการบินเช่าเหมาลำ 16 สายการบิน ที่ให้บริการเส้นทางบินตรง

สู่สนามบินภูเก็ต รวมถึงที่นี่ยังมีท่าเทียบเรือถึง 38แห่ง เป็นท่าเรือน้ำลึก 1 แหล่ง และมารีน่า 5 แห่ง โดยมีเรือยอชต์และครูสเข้ามาจอดประมาณ 1,500 ลำต่อปี

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมา 13.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น+2.20% เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 3.7 ล้านคนรายได้ 4.3 หมื่นล้านบาท ต่างชาติ 9.48 ล้านคนรายได้ 2.97 แสนล้านบาท รายได้รวม3.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น +9.16% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการท่องเที่ยวที่โตขึ้นแม้ได้รับผลกระทบในช่วงทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่นักท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ยังคงเป็นจีน , ออสเตรเลีย, รัสเซีย,เยอรมนี รวมถึงตะวันออกกลาง ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย

 ผุดสารพัดโครงการแก้ปัญหา

ดังนั้นศักยภาพมีแน่นอน แต่สิ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาสำคัญ ของภูเก็ต ขณะนี้มีอยู่ 5 เรื่องหลัก ที่ต้องได้รับการแก้ไข คือปัญหาการจราจร/โครงสร้างพื้นฐาน ที่มีปัญหารถติดและน้ำท่วม เฉพาะปริมาณยอดรถที่จดทะเบียนในภูเก็ต 4.43 แสนคัน ปัญหาน้ำเสีย ที่พบว่าในปีที่ผ่านมา ภูเก็ตมีน้ำเสีย 1.8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีระบบบำบัด 4 แห่งอยู่ระหว่างการสร้าง 1แห่งแต่บำบัดน้ำเสียได้ 31% ของปริมาณน้ำเสียทั้งหมด

ตามมาด้วยปัญหาขยะ ที่แต่ละวันมีขยะมูลราว 794 ตันต่อวัน มีเตาเผา 2 ชุด บ่อฝังขยะ 5บ่อปัจจุบันเต็มทุกบ่อปัญหาด้านการท่องเที่ยวเช่นการบุกรุกชายหาด ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว และปัญหาทางกายภาพและโครงสร้างทางสังคม/องค์กร เช่นบุคลากรภาครัฐไม่เพียงพอ เทคโนโลยีไม่สอดคล้องกับการพัฒนาคน กฎหมายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

จริงอยู่ที่ปัญหาเหล่านี้ มีหลายเรื่องที่อยู่ดำเนินการแก้ไขซึ่งที่เราเห็นจับต้องได้ อย่างเรื่องการแก้ปัญหาจราจร/โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเห็น 4 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ ก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางเลี่ยงเมือง(แยกบางคู) สร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4021 กับ4028 กับถนนเทศบาล(ห้าแยกฉลอง) สร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข4026(แยกเข้าสนามบิน) และสร้างสะพานกลับรถต่างระดับ (เกือกม้า)ทางหลวงหมายเลข 402 การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศ สนามบินภูเก็ต ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การติดตั้งกล้องซีซีทีวี ในจุดเสี่ยง 1.13 พันจุด การจัดระเบียบการบุกรุกชายหาด
หลายโครงการที่จังหวัดภูเก็ต ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี2560 เพิ่มเติมราว 900 ล้านบาท ที่จะมาทำในโครงการต่างๆ อาทิ ปรับปรุงด่านตรวจภูเก็ต การปรับปรุงเครือข่ายคมนาคมอาทิขยายทางจราจรสู่ท่าเรือน้ำลึก การปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ระบบเคเบิ้ลใต้ดินพื้นที่ย่านเมืองเก่า การสร้างปะการังเทียมฟื้นฟูระบบนิเวศการบริหารจัดการนํ้า ระบบป้องกันนํ้าท่วมชุมชนฉลอง-วิชิต และการพัฒนากลุ่มจังหวัดอันดามันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

 ขอรัฐหนุนงบยกเครื่อง

แต่ทั้งนี้ก็มีอีกหลายโครงการที่ยังคงต้องใช้เวลาโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร อย่าง โครงการศึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต งบประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง 1.04 หมื่นล้านบาท โครงการพัฒนาทางหลวง 3โครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่บ้านสาคู-บ้านเกาะแก้ว 1.35 หมื่นล้านบาท

รวมทั้งการขอสนับสนุนงบจากรัฐบาล ซึ่งทางจ.ภูเก็ต ได้ขอให้พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ผลักดันใน 3 โครงการใหญ่ ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาของพื้นที่ ในปี 2561 วงเงินราว 2.96 พันล้านบาท อาทิ ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้ การศึกษาสำรวจออกแบบ และก่อสร้างท่าเรือสาธารณะ เพื่อให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก (ตารางประกอบ)

นอกจากนี้ยังมีอีก 4โครงการขนาดใหญ่ ที่จ.ภูเก็ตแจ้งให้หน่วยงานระดับกรมที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในปี2561วงเงินงบประมาณราว 1.01 พันล้านบาท อย่าง โครงการก่อสร้างระบบป้องกันนํ้าท่วมชุมชนรัษฎาต่อเนื่องจากเทศบาลนครภูเก็ตโครงการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินพื้นที่เขตอนุรักษ์ย่านการค้าเมืองเก่า โครงการบริหารจัดการนํ้าเสีย โครงการก่อสร้างเส้นทางลัด-ทางเลี่ยง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในภูเก็ต

ทั้งหมดล้วนเป็นโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหา ตามกรอบการวางตำแหน่งการพัฒนาภูเก็ต ที่จะเริ่มจากต้นทาง คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย การพัฒนาบุคลากร วิสาหกิจผู้ประกอบการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง กลางทาง คือ การบริหารจัดการและยกระดับความปลอดภัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่ปลายทาง คือ พัฒนาสู่เมืองแห่งความทันสมัย ศูนย์กลางการบริการและเทคโนโลยีในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเราคงต้องรอกันไปจนถึงปี 2564 ว่าเป้าหมายนี้จะเป็นจริงหรือแค่เป็นแผนสวยหรูที่อยู่บนกระดาษเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560