It’s my job to do this สื่อสารสังคมด้วยกระบวนคิดแบบวิทยาศาสตร์

19 มี.ค. 2560 | 02:00 น.
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ชีวิตผม... มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนค่อนข้างมาก เมื่อก่อนผมเป็นอาจารย์ธรรมดาที่ทำหน้าที่สอนหนังสือ ทำวิจัย แต่ด้วยการเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ทำให้ผมตั้งประเด็นถกเถียงทางวิชาการกับคนทั่วไปบ้าง ทั้งในมหาวิทยาลัยและในเว็ปบอร์ดบนโลกออนไลน์ และจุดเปลี่ยนจากการเข้าไปตั้งคำถามกับระบบปฏิบัติการของเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ทำให้คนไทยรู้จักชื่อผมและตัวผม พร้อมๆ กับการรู้จักปรากฎการณ์หนึ่งในสังคมคือ “Pseudoscience” การนำวิทยาศาสตร์มาใช้ผิดๆ ถูกนำมาใช้เพื่อการตลาด หลอกคนเพื่อขายสินค้า สะท้อนให้เห็นว่าปัญหา Pseudoscience หรือวิทยาศาสตร์ลวงโลกในสังคมไทยค่อนข้างรุนแรง คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เหตุการณ์ GT200 จึงเป็นเหมือนทางสว่างที่ทำให้สังคมไทยเห็นว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาระดับชาติได้”

จุดเริ่มต้นจากความกล้าในการเข้าไปอธิบายปรากฎการณ์ ประเด็นที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์จาก 1 เป็น 100 เป็น 1,000 จนกระจายไปทั่วโลก โดยไม่ถูกตรวจสอบว่าเรื่องที่ตนเองร่วมเผยแพร่ไปนั้นถูกหรือผิดใน 2-3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของ อาจารย์เอก - รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ปรากฎขึ้นจนเป็นที่รู้จักอีกครั้ง และการได้รับเกียรติให้เป็น “บุคคลอ้างอิง” ในสื่อกระแสหลักอย่างแพร่หลายด้วยการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่กำลังถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์อยู่นั้น เกิดจากอะไร ผ่านกระบวนการคิดหรือการใช้อย่างไร และนำมาสู่ผลอย่างไร ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยชื่อของอาจารย์ที่ทำให้คนไทยได้ยิน ได้ค้นหา ได้ตามอ่านประเด็นการโต้แย้งต่างๆ ตลอดทั้งปี ไม่เพียงทำให้อาจารย์เอกได้รับรางวัล Popular Vote ศิษย์เก่าอังกฤษดีเด่น (Alumni Awards 2017) จาก บริติช เคานซิล ประเทศไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่อาจารย์เจษฏายังทำให้ “นักวิทยาศาสตร์” มีที่ยืนและเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

MP29-3245-2 จากเด็กชายที่เรียนหนังสือระดับปานกลาง ไม่ได้มีความฝันอยากประกอบอาชีพอะไรเป็นพิเศษ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชอบตั้งแต่อายุได้ราว 7-8 ขวบคือ ความชื่นชอบความเป็นวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ในการ์ตูนจากดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง โดเรมอน และ ดร.โนริมากิ เซมเบ้ ในการ์ตูนเรื่อง ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ กับการทดลองและสิ่งประดิษฐ์มากมายที่ปลุกสัญชาตญาณนักวิทยาศาสตร์ในวัยเยาว์ให้เริ่มรู้สึกสนุกกับการทดลองและการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ต่อยอดด้วยคาเร็คเตอร์เท่ห์ๆ ของ ดร.สป็อค จากเรื่อง Star trek ยิ่งทำให้เด็กชายเจษฏาในตอนนั้นอ่านหนังสือมากขึ้น ต่อยอดด้วยการสอบชิงทุน พสวท. (ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) มุ่งศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในมุมที่กว้างและลึกขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาเอก

“การศึกษาเรื่อง DNA เป็นงานในระดับโมเลกุลเป็นงานที่มองไม่เห็น คุณต้องใช้เซนส์ ใช้จินตนาการ ใช้สายตาพิจารณาภาพจึงจะเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเข้าใจ DNA คุณจะสามารถเข้าใจโรคต่างๆ ได้ เข้าใจปรากฎการณ์ธรรมชาติ พฤติกรรมสิ่งมีชีวิต การนำไปใช้ประโยชน์ การสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ ยิ่งเราได้เรียนมากขึ้น ได้รู้มากขึ้น ยิ่งรู้สึกสนุก อยากทำ อยากศึกษาวิจัยด้านนี้”

ความหลงใหลในองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่บิดเกลียวเชื่อมต่อ จุดกำเนิดของสรรพสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ การเตรียมพร้อมด้วยทฤษฎีและหลักการอย่างเต็มขั้นในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในประเทศไทย สู่การต่อยอดองค์ความรู้อย่างเต็มพลังในระดับปริญญาเอก สาขาชีวโมเลกุล (Molecular Biology) กับบรรยากาศการเรียนรู้ที่อาจารย์เจษฎาพูดว่า คือต้นทางที่ทำให้ตนเองมี “จิตวิญญาณของผู้สอน” สร้างคนผ่านองค์ความรู้อย่างแท้จริง

“การเรียนที่ University of Edinburgh ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก บรรยากาศการเรียนที่ต่างจากไทยคือการเน้นหนักเรื่องทฤษฎีและการปฏิบัติ และงานวิจัยที่เป็นของใครของมัน ไม่ได้สอนให้เราเป็นซุปเปอร์แมนที่ต้องเก่ง ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเอง ที่นี่อุปกรณ์ในห้องแลปไม่ได้ต่างอะไรจากเมืองไทย แต่สิ่งพิเศษของการเรียนที่อังกฤษคือการสอนให้รู้จักการประยุกต์ใช้องค์ประกอบรอบตัว และใช้สมองของเราทำงานให้เต็มที่ เราทำงานเป็นทีม ทุกคนมีหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือกัน งานวิจัยหนึ่งชิ้นจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยดูแล มีซุปเปอร์ไวเซอร์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งมาก ท่านเป็นศาสตราจารย์ที่สนุก มีความเป็นมืออาชีพทั้งการทำงานและการสอน พร้อมช่วยเหลือทันทีที่มีปัญหา ปลุกพลังให้เราเห็นคุณค่างานวิจัยว่าสำคัญต่อโลกเพียงใดตลอดเวลา ผมได้รับบรรยากาศของความรักในวิทยาศาสตร์กลัยไป เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า “วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกจริงๆ” ผมเรียนจบมาพร้อมกับองค์ความรู้ใหม่บางอย่างที่ทำให้เราพร้อมจะทำงานวิจัยอื่นๆ ต่อไปได้อีกมากมาย”

Give & Gain ส่งต่อการเรียนรูปแบบใหม่ติดอาวุธให้ผู้เรียนดำรงชีพอย่างเป็น “ผู้รู้” ในสังคม นอกจากการสอนในรายวิชาบังคับ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สร้างและส่งเสริมโอกาสให้นิสิตประยุกต์ให้องค์ความรู้กับการสื่อสาร ผ่านแนวคิด “ไม่ทำให้วิทยาศาสต์เป็นพระคัมภีร์” แต่เป็นเรื่องสนุก ปลุกความอยากรู้อยากเห็น อาจารย์เจษฎายังเปิดคลาสในวิชาเลือก General Education (Gen Ed) วิชาบัณฑิตในอุดมคติ ผู้เข้าเรียนศึกประกอบด้วยนิสิตหลากคณะ หลายชั้นปี ได้รับการเปิดมุมมองใหม่ผ่านการหยิบยกประเด็นต่างๆ ในสังคม ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ขึ้นมาตั้งวงถกเถียงและหาทางออกร่วมกัน ภายใต้กรอบแนวคิดความเป็นวิทยาศาสตร์และความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนต้องเริ่มจากการมองว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สสารทุกชนิดมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รับฟังผู้อื่น และต้องโต้เถียงกัน ทำให้คลาสเรียนซึ่งเจอกัน 1 ครั้งต่อสัปดาห์มีสีสัน สร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงเหตุและผล พร้อมๆกับอาวุธที่ทำให้นิสิตรู้จักการคัดกรองความข้อมูลด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ตัดวงจรการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกตรวจสอบในสื่อออนไลน์

[caption id="attachment_135273" align="aligncenter" width="500"] รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[/caption]

“ชีวิตของเราเปลี่ยนไปทุกๆ วัน ผมพยายามบอกนิสิต บอกคนรุ่นใหม่ๆ ว่าอย่าติดกรอบแค่สิ่งที่เป็นอยู่หรือความฝันของคนอื่นจนกลายเป็นความเคยชิน เพราะเรามีความฝันใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา สำหรับผม 10 ปีแรกหลังเรียนจบ ผมอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี สร้างงานวิจัยที่มีประโยชน์ 10 ปีหลัง ผมอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทำให้คนไทยคิดแบบวิทยาศาสตร์และมองแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งอีก 10 ปีต่อๆ ไปอาจเปลี่ยนเป็นอะไรเพิ่มเติมได้อีกมากมาย”
ดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ตั้งคำถามกับตัวเองทุกวันว่า “คุณอยากให้คนจดจำเราในเรื่องอะไร” อาจารย์เจษฏาทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยคำถามง่ายๆ แต่ย้อนเข้าไปทำให้เราต้องคิดให้หนักกับเวลาที่เราหายใจทิ้งไปทุกวัน วันนี้อาจารย์เจษฎาประสบความสำเร็จแล้วในการสร้างการจดจำของสังคมในฐานะ “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” แล้วคุณล่ะได้สร้างอะไรไว้เป็นที่จดจำแล้วหรือยัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560