ซื้อประกันรับเฟดขึ้นดบ. ‘ชาติศิริ’มั่นใจเอสเอ็มอีรับมือได้ ทีเอ็มบชี้หมดยุคดอกเบี้ยขาลง

17 มี.ค. 2560 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

tp28-3244-b-355x420 “ชาติศิริ” ยันลูกค้ารุกซื้อประกันความเสี่ยงรับมือเฟดขึ้นดอกเบี้ย ด้านกรุงศรีฯคาดแนวโน้มบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค “ทีเอ็มบี” แนะรีไฟแนนซ์หนี้บ้าน-เร่งกู้คอนโดฯหนีดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัวปีหน้า

ตลาดจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ระหว่างวันที่ 14-15มีนาคมนี้ ส่วนใหญ่คาดเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.50-0.75% ขณะเดียวกันต่างเฝ้าระวังผลกระทบจากความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินโดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืมทั้งระยะสั้นและยาว

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่รับทราบสัญญาณเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาระยะหนึ่งแล้ว และลูกค้าของธนาคารกรุงเทพมีการป้องกันความเสี่ยงโดยการซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอีก็ไม่มีปัญหา และเข้าใจว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพราะธนาคารกลางทุกประเทศมีส่วนในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจไทยด้วย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงมีเสถียรภาพที่ดี

ธนาคารกรุงเทพยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3-5% ไว้เหมาะสมกับสถานการณ์ของไทยและทางการพยายามดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพที่มั่นคง โดยมีหลายโครงการของภาครัฐจะทยอยลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่จะทยอยลงทุนซึ่งจะช่วยเรื่องการลงทุนให้มากขึ้นและเป็นการวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า และเชื่อว่าปีนี้ใน 6เดือนข้างหน้ายังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% ต่อปี

สำหรับแนวโน้มความต้องการสินเชื่อที่ผ่านมา 2เดือนของปีนี้เห็นสัญญาณสินเชื่อเข้ามาขยายตามลำดับแนวโน้มจะเห็นมากขึ้นในครึ่งปีหลังและปีหน้าโดยจะขยายตัวทุกกลุ่มเศรษฐกิจ ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยหัวใจอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจซึ่งทางการพยายามทำอย่างเต็มที่ให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพอยู่ในเออีซี

“2 เดือนแรกสินเชื่อขยับตามสภาพเศรษฐกิจทั้งเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการลงทุน ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในประมาณการไว้ 3-5% และมีแนวโน้มดีขึ้นจากหลายตัวแปรที่ราชการเตรียมไว้โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นสิ่งที่จะช่วยการลงทุนมากขึ้น ซึ่งควรจะเห็นมากขึ้นในครึ่งปีหลังและในอนาคต สำหรับวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยต่อไปข้างหน้า ส่วนเอ็นพีแอลยังคอยติดตามดูแต่ไม่มีความกังวล และการปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ารายใหญ่ไม่มีปัญหา”

ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า การประชุมรอบนี้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่น่าจะเร็วเกินไปที่คณะกรรมการเฟดจะปรับประมาณการ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ยังไม่ชัดเจน จึงมีโอกาสสูงที่ดอลล่าร์สหรัฐจะเผชิญแรงขายทำกำไรหลังทราบผลการประชุม

“ตลาดให้ความสำคัญว่าเฟดจะส่งสัญญาณอย่างไรหลังการประชุมเช่น ถ้าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ยังคงประมาณการว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3รอบในปีนี้มีโอกาสจะเห็นเงินทุนไหลเข้า แต่หากเฟดปรับประมาณการว่าเศรษฐกิจดีและจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 4 รอบซึ่งเร็วกว่าตลาดคาดผลกระทบค่าเงินอ่อนค่าทั้งภูมิภาครวมทั้งเงินบาท”

ส่วนผลกระทบต้นทุนกู้ยืมนั้น เนื่องจากตลาดรับทราบแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกพลิกเป็นขาขึ้นโดยที่ธปท.ยังไม่มีนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังนั้นเชื่อว่าผู้ประกอบการยังรับต้นทุนปัจจุบัน

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2560 ต่างชาติขายหุ้น 7,600 ล้านบาทแต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 5.6 หมื่นล้านบาทส่วนเงินบาทแข็งค่า 1.2% มาที่ 35.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วจะสร้างแรงกดดันให้ธปท.อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม ซึ่งถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของดอกเบี้ยขาลง และค่าเงินบาทจะผันผวนในปีนี้ โดยดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในอนาคต มีผลต่อภาระผ่อนของประชาชนโดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ถ้ามีความจำเป็นประชาชนควรจะหาช่องทางลดภาระไว้ก่อนเช่นการรีไฟแนนซ์ และหากจะซื้อบ้านหรือคอนโดควรจะเป็นภายในปีนี้ก่อนที่ดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นเต็มตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560