แห่นำเข้า‘ก๊าซแอลพีจี’ล้น กบง.ไฟเขียวส่งออกรอบ10ปี

12 มี.ค. 2560 | 09:00 น.
สยามแก๊สแห่นำเข้าก๊าซแอลพีจี 4.4 หมื่นตันต่อเดือนกระทบการผลิตของโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซล้น กบง.ต้องแก้ระเบยี บใหม่ ยอมให้ส่งออกแอลพีจีได้ในรอบ 10 ปี หลังควบคุมมานาน พร้อมออกระเบียบปรับผู้แจ้งนำเข้า แต่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องจ่ายส่วนต่างจากต้นทุนที่พุ่ง

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้เปิดเสรีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นไปนั้น โดยให้ผู้ค้าแอลพีจีกว่า 20 ราย จะต้องแจ้งการจัดหาแอลพีจีให้กรมธุรกิจพลังงานรับทราบทุกวันที่ 20 ของเดือน เพื่อบริหารการจัดกาแอลพีจีไม่ให้เกิดการขาดแคลน โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้ค้าได้แจ้งนำเข้าแอลพีจีมาจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) นำเข้าในปริมาณ 3.3 หมื่นตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้ามาเพื่อส่งออก ในปริมาณ 2.2 หมื่นตันต่อเดือน และบริษัท ยูนิคแก๊สฯ นำเข้าเพื่อส่งออกในปริมาณ 3,000 ตันต่อเดือน

โดยปริมาณดังกล่าว ได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งนำเข้าอีก เป็นของสยามแก๊ส 4.4 หมื่นตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในประเทศ ขณะที่ ปตท. นำเข้ามาปริมาณ 1.1 หมื่นตันต่อเดือน เพื่อส่งออก และยูนิคแก๊สนำเข้ามา 3 พันตันต่อเดือน เพื่อส่งออก ซึ่งในส่วนของปตท.นั้น จากเดิมที่มีการนำเข้ามาเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ได้รับรายงานว่าจากนี้ไปจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออก จะไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากปริมาณการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ได้ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป จะมีปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจีเหลือมากขึ้น เบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซธรรมชาติ สามารถที่จะส่งออกก๊าซแอลพีจีออกไปต่างประเทศได้ หลังจากที่มีการควบคุมการส่งออกมาร่วม 10 ปี

โดยเมื่อวันเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจี ทั้งกรณีการนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน และรักษาระดับสมดุลของการผลิตและจัดหาก๊าซแอลดีจี ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้กรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ควบคุมดูแล และพิจารณาการขออนุญาตส่งออกเป็นรายเที่ยว โดยการขออนุญาตส่งออกก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ภายในประเทศ จะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซแอลพีจีให้สามารถส่งออกได้ในกรณีที่มีก๊าซแอลพีจีเกินกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่กำหนดในอัตราส่วนต่างของราคาตลาดโลกบวก X (ค่าขนส่ง ค่าประกน ค่าดำเนินงาน)

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีผู้ค้าก๊าซแอลพีจีแจ้งนำเข้าแล้ว แต่ไม่สามารถนำแอลพีจีเข้ามาได้ และอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนภายในประเทศ ทำให้ภาครัฐจะต้องนำเข้าแอลพีจีในภาวะฉุกเฉิน ทางกบง.ได้เห็นชอบมาตรการรองรับความเสียหายอันเกิดจากการชดเชยราคาส่วนต่างจากการนำเข้าก๊าซแอลพีจีแบบฉุกเฉิน (Prompt Cargo) โดยผู้นำเข้าแอลพีจีไม่ได้ จะต้องจ่ายเงินในอัตราส่วนต่างของต้นทุนที่นำเข้ามา เพราะการนำเข้าแบบฉุกเฉินจะมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้ามารแบบปกติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560