ส่งออกยางรถบรรทุกแข่งเดือด 3 ค่ายไทยสู้แบรนด์ข้ามชาติ-จีนหลุดเอดีสหรัฐฯ

11 มี.ค. 2560 | 11:00 น.
ไทยชวดโอกาสส่งออกยางรถบรรทุกและรถบัสไปสหรัฐฯเพิ่ม หลังจีนหลุดข้อกล่าวหาทุ่มตลาดมะกัน แต่หวังได้อานิสงส์นำเข้าวัตถุดิบยางจากไทยเพิ่ม กลุ่มอุตฯผลิตภัณฑ์ยาง ชี้ตลาดล้อยางเรเดียลรถบรรทุกแข่งเดือด 3 ผู้ผลิตไทยทุ่มกว่าพันล้าน แข่งยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

จากที่สหรัฐอเมริกาได้เปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและอุดหนุน(AD/CVD)การผลิตสินค้ายางรถบรรทุกและรถบัสของจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้แจ้งผลการตัดสินขั้นสุดท้ายว่า สินค้ายางรถบรรทุกและรถบัส(รหัส HS 4.11.20.1015) นำเข้าจากจีนไม่ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมผลิตยางรถบรรทุกและรถบัสในสหรัฐฯนั้น

นายชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การหลุดพ้นข้อกล่าวหาดังกล่าวของจีน ทำให้สินค้ากลุ่มเดียวกันของไทยเสียโอกาสการส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯเพิ่มเพราะการแข่งขันจากนี้ไปจะเป็นไปตามดีมานด์และซัพพลายตามสถานการณ์ปกติ

ทั้งนี้จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เผยว่าจากที่สินค้ายางรถบรรทุกและรถบัสของจีนถูกสหรัฐฯเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและการอุดหนุนในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการลดการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนในปี 2559 ลดลงไป 27.45% หรือลดลงจาก 1,035.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 751.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผลให้สหรัฐฯหันไปเพิ่มการนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน และไทย

"ตลาดยางรถบรรทุกและรถบัสถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ โดยปัจจุบันยางรถได้ถูกพัฒนาจากยางผ้าใบเป็นยางเรเดียลหมดแล้วเพราะถนนหนทางดีขึ้น ซึ่งยางเรเดียลแบรนด์จีนสามารถผลิตได้คุณภาพดี และราคาถูกกว่าแบรนด์ชั้นนำของโลก 50% หรือมากกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยางรถบรรทุกและรถบัสของจีนส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะจีนส่งรถบัสไปทั่วโลกรวมทั้งไทย เช่น ยี่ห้อซันลอง

นอกจากนี้บริษัท BYD ผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้าท็อปทรีของจีน เวลาส่งออกไปก็ติดยางรถแบรนด์จีนไปด้วยทำให้ภาพลักษณ์สินค้ารถยนต์ละยางรถยนต์ของจีนดีตามไปด้วย" นายชโย กล่าว

อย่างไรก็ดีจากที่สินค้ายางรถบรรทุกและรถบัสของจีนหลุดข้อกล่าวหาทุ่มตลาด นับจากนี้การแข่งขันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวทั้งในตลาดสหรัฐฯ แ ละตลาดอื่นๆ ทั่วโลกจะยังมีการแข่งขันที่สูงตามทิศทางความต้องการของตลาด และตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในส่วนของประเทศไทยเวลานี้มีผู้ประกอบการที่ได้ขยายการลงทุนผลิตยางเรเดียลสำหรับรถบรรทุกและรถบัสแบรนด์ไทยมูลค่ารวมกันเป็นพันล้านบาท หลัก ๆ มี 3 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัทดี-สโตนฯ บริษัทวีรับเบอร์ฯ และบริษัท ป.สยามอุตสาหกรรมยางฯ ซึ่งต้องแข่งขันส่งออกกับผู้ผลิตยางรถบรรทุกและรถบัสข้ามชาติที่ตั้งฐานในไทย เช่น มิชลิน,บริดจสโตน,โยโกฮามาไทร์และแม็กซิส รวมถึงยางรถที่ตั้งฐานผลิตในต่างประเทศ

“แม้การส่งออกยางล้อรถยนต์จะมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกปี แต่อีกมุมหนึ่งการส่งออกยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางของจีน และจากประเทศอื่นๆ ยังต้องใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ และจากที่ไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่สุดของโลกเราก็จะได้รับอานิสงส์การส่งออกยางพาราวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามได้ด้วย การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง (รวมยางรถยนต์)ของไทยในปีนี้คาดจะขยายตัวได้ระหว่าง 3-5%(จากปี 2559 ส่งออกได้ 2.3 แสนล้านบาท)”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560