โตโยต้ารอวันฟ้าใหม่ 'ตลาดไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว'

06 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
สรุปยอดขายรถยนต์ทั่วโลกอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์พลิกล็อกเล็กๆ เมื่อ “โตโยต้า” ถูก “โฟล์คสวาเกน”แซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยตัวเลข 10.21 ล้านคัน (เติบโต 1.3%) และ10.31 ล้านคัน (เติบโต 3.8%) ตามลำดับ

...เรียกว่าเฉือนกันแค่หลักแสนคัน! งานนี้อาจเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย เพราะสถานการณ์ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2559 โตโยต้ายังมียอดขายนำพี่ใหญ่จากเยอรมนีพอสมควร จึงมีคำถามตามมาว่า เป็นการพลาดพลั้งทางเทคนิคหรือโดนความเก๋าของโฟล์คสวาเกน ที่จริงๆเพิ่งเสียรังวัดไปกับการจงใจบิดเบือนค่ามลพิษไอเสียของรถยนต์มาหมาดๆ

กลับมาที่ประเทศไทย โตโยต้าประกาศยอดขายอย่างเป็นทางการในปี 2559 ทำได้ 2.45 แสนคัน ลดลง 7.9% เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่วนแบ่งการตลาดลดลงเหลือ 31.9% (ปี 2558 33.3%) ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งตกไปแบบน่าใจหาย 17.2% ส่วนกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทรงตัว

“ปี2559 ถือเป็นอีกปีที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แม้จะมีเงินลงทุนจากรัฐบาลในโครงการต่างๆเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ แต่ตลาดยังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อหดหาย ด้วยการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับโครงสร้างภาษีใหม่ในช่วงปลายปี 2558” นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชันฯ (ทีเอ็มซี) และกรรมการผู้จัดการใหญ่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (ทีเอ็มที)กล่าว

 ยอดส่งออกยังซบ

ยิ่งน่าสนใจมากว่านั้น เมื่อการวิเคราะห์ตลาดและประเมินตัวเองของโตโยต้าคาดหวังยอดขายในปีนี้ 2.65 แสนคัน เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับปี 2559 จากตลาดรวม 8 แสนคัน ขยายตัว 4.1% โดยรถยนต์นั่งของโตโยต้าจะกลับมาเป็นพระเอก หรือเติบโตระดับ 26% ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มองว่าลดลง 1.8% เช่นเดียวกับปริมาณส่งออกลดลง 11%

[caption id="attachment_128615" align="aligncenter" width="503"] โตโยต้ารอวันฟ้าใหม่ โตโยต้ารอวันฟ้าใหม่ 'ตลาดไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว'[/caption]

“เรามองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ อย่างโอเชียเนีย และอเมริกาใต้ แต่ต้องยอมรับว่าตลาดตะวันออกลางที่เศรษฐกิจซบเซาจากราคาน้ำมัน ทำให้การส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ลดลง” ทานาดะกล่าวและว่า

“ทีเอ็มที” มีสัดส่วนการส่งออกไปตะวันออกกลางถึง 30% แต่หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำทำให้ยอดสั่งซื้อลดลง แม้จะเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆแล้ว แต่ไม่สามารถทดแทนได้ ส่วนการปิดโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าประเทศออสเตรเลียที่เคยรับหน้าที่ส่งออกคัมรี ไปยังตะวันออกกลาง บทบาทนี้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นจะทำหน้าที่แทน สำหรับกำลังการผลิตรถยนต์ของโรงงานโตโยต้าในเมืองไทยทั้ง 3 แห่ง (เกตเวย์ สำโรง บ้านโพธิ์) เต็มที่ 7.7 แสนคัน แต่ในปี 2559 ใช้ไป 5.5 แสนคัน ส่วนปีนี้คาดว่ากำลังการผลิตจะใกล้เคียงเดิม

  ไทย-อาเซียนช่วยหนุน

ประเทศไทยและอินโดนีเซียมีส่วนผลักดันธุรกิจของโตโยต้าในภูมิภาคนี้อย่างมาก ไทยน่าจะมีศักยภาพระดับ 9 แสนคันต่อปี อินโดนีเซีย 1 ล้านคันต่อปี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในสถานการณ์นั้น อย่างไรก็ตามในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ไทยได้รับมอบหมายให้ดูแลตลาดนี้ ทิศทางยังสดใส

“ตลาดรถยนต์เมืองไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ซึ่งปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าไทยและอินโดนีเซียฟื้นกลับมา ย่อมส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในเอเชียของโตโยต้าเพิ่มขึ้น” ทานาดะกล่าวและโปรยยาหอมทิ้งท้ายตามสไตล์ว่า

“โตโยต้าจะพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการค้นคว้าวิจัยพัฒนา(R&D) ทำโปรกดักต์ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ซึ่งไทยเป็นตลาดใหญ่และศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เราพร้อมลงทุนเพิ่มเติมและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยื่นต่อไป”

…คงต้องจับตาดูว่ายักษ์ใหญ่ที่ในเมืองไทยยอดขายตกมา 3 ปีซ้อน ส่วนแบ่งการตลาดถูกตีกินไปเรื่อยๆ ทั้งยังมีโจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้โตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นหาก“ไทย”ไม่เข้มแข็ง “นายทานาดะ” ก็คงยืดอกได้ไม่เต็มที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560