ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดประชุมเฟดรอบแรกของปีระกา‘คง’ดอกเบี้ย

30 ม.ค. 2560 | 09:15 น.
03_KResearch_CH_14-503x125 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ประชุมเฟดรอบแรกของปีระกา 31 ม.ค. – 1 ก.พ 60 ... คาดเฟด ‘คง’ ดอกเบี้ย เพื่อประเมินทิศนโยบายปธน.ทรัมป์”

คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง รวมทั้งนโยบายการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นเสถียรภาพของจีน คงทำให้เฟดพิจารณาถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้อย่างระมัดระวัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติ “คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมรอบแรกของปี 2560 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างไรก็ดี เฟดน่าจะยังสื่อสารกับตลาดว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงไม่สิ้นสุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ เงินเฟ้อที่จะขยับตามราคาน้ำมัน พร้อมๆ กับสภาวะตลาดแรงงานที่ทยอยตึงตัวขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็น/เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม รวมทั้ง นัยที่น่าสนใจต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไว้ดังนี้ :-

แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปัจจัยการเมืองที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้น คงส่งผลให้เฟดลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ เพื่อเฝ้าจับตาดูการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด

คงต้องยอมรับว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องชี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคงส่งผลให้เฟดสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ กลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยเฉพาะนโยบายที่สนับสนุนการกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ตามอำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ในการยกเลิกข้อตกลง TPP รวมทั้ง ความพยายามในการแก้ไขข้อตกลง NAFTA ตลอดจน การกดดันให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐฯ อาจจะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาคเอกชนสหรัฐฯ ตลอดจน อาจส่งผลให้ต้นทุนราคาสินค้าสหรัฐฯ มีโอกาสปรับขึ้น อันอาจเป็นผลลบต่อภาคการบริโภคได้

ขณะที่การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดภาษีอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากประเด็นดังกล่าวจะต้องมีการผ่านความเห็นจากสภาคองเกรส ซึ่งคงจะต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนกว่าที่จะสามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น อันเป็นปัจจัยที่เฟดคงติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับสูง ยังสนับสนุนท่าทีระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเปราะบางโดยเฉพาะปัญหาของเศรษฐกิจจีน ที่กำลังเผชิญกับภาวะหนี้ภาคเอกชนในระดับสูง และการไหลออกของเงินทุนจากจีน รวมทั้ง ความเสี่ยงด้านการค้าหากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการในการปกป้องการค้าในประเทศ ขณะที่ ปัจจัยการเมือง ท่ามกลางการเลือกตั้งในประเทศแกนหลักในยูโรโซน และการเจรจา Brexit ของสหราชอาณาจักร ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปในภาพรวมได้ ดังนั้น ท่ามกลางสภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ คาดว่าเฟดคงจะเว้นระยะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (โดยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุกรอบการประชุม) เพื่อลดความเสี่ยงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะชะงักงัน เพราะนั่นอาจมีผลย้อนกลับมาที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1-2 ครั้งในปีนี้ โดยจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลาย ไตรมาส 2/60 ภายใต้สถานการณ์ที่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ ไม่ได้สร้างประเด็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษกิจอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มศักยภาพ อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เครื่องชี้เงินเฟ้อที่เฟดติดตาม เร่งตัวเข้าใกล้ระดับ 2% ในจังหวะที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจสร้างความเสี่ยงให้เฟด ต้องส่งสัญญาณคุมเข้มมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้

สำหรับผลต่อไทยนั้น มองว่าปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินไทยเพิ่มขึ้น โดยแม้การส่งสัญญาณถึงการคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการชะลอแรงกดดันต่อการปรับขึ้นของต้นทุนการเงิน ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ากลับมาบางส่วน แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินไทนผันผวนตามจังหวะของแต่ละเหตุการณ์ อันคงเป็นความท้าทายในช่วงต้นปีระกาที่ต้องรับมือแต่เนิ่นๆ ไล่เรียงจากการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในยุโรป โดยเฉพาะในช่วงที่สหราชอาณาจักรจะเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปอย่างไปทางการในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/60 และสถานการณ์การไหลออกของเงินทุนในจีนที่อาจจะสร้างความกังวลรอบใหม่

ขณะที่ จุดสนใจของตลาดตั้งแต่ช่วยปลายไตรมาส 2/60 เป็นต้นไป น่าจะเปลี่ยนกลับมาที่การประเมินจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งคงส่งผลให้มีการไหลของกระแสเงินทุนกลับสู่ตลาดสหรัฐฯ และผลักดันให้ต้นทุนการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยทยอยขยับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อีกระลอกได้

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย