สหรัฐเลิก! "TPP" ใครได้ใครเสีย?

24 ม.ค. 2560 | 07:33 น.
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใช้อำนาจพิเศษยุติการเข้าร่วมใน "ข้อตกลงความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค" หรือ ทีพีพีไปแล้ว เราลองมาดูกันว่า หลังจากที่สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศผู้ริเริ่มทีพีพี แต่กลับมามาเป็นประเทศที่ล้มเสียเองนั้น จะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ประเทศไหนในเอเชีย จะได้ ประเทศไหนจะเสีย จากลายเซ็นต์ยกเลิกทีพีพีของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้
แน่นอนว่า ชาติแรกที่จะสูญเสียโอกาสอย่างมาก ก็คือ สิงคโปร์ เพราะ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งทีพีพี และเป็นผู้สนับสนุนทีพีพีประเทศสำคัญทีเดียว

สิงคโปร์ เป็นชาติที่ต้องพึ่งการค้าเพื่อผลักดันเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และสิงคโปร์ ก็เป็นท่าเรือสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถ้าหากทีพีพี บรรลุข้อตกลงได้ ก็คาดว่าจะทำให้การค้าในเอเชียคึกคักขึ้น และสิงคโปร์ ในฐานะที่เป็นท่าเรือสำคัญก็จะได้รับผลประโยชย์มากขึ้นตามไปด้วย

---ประเทศต่อมา ที่น่าจะเสียประโยชย์อย่างมากก็คือ เวียดนาม---
โดยจากผลการศึกษาของสถาบันปีเตอร์สัน มองว่า เวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชย์มากที่สุดถ้าหากทีพีพี บรรลุไปได้ เพราะว่าเศรษฐกิจของเวียดนามในหลายภาคส่วนยังคงปิดอยู่

ซึ่งข้อตกลงการค้าอย่างทีพีพี ที่จะปูทางสู่การยกเว้นภาษีศุลกากรนั้นจะทำให้ต่างชาติเข้าถึงตลาดสินค้าของเวียดนามได้มาก และง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดข้าว อาหารทะเล สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีระดับต่ำ โดยก่อนหน้านี้ คาดว่าทีพีพี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเวียดนามได้มากถึง 10% ในปี 2025 ทีเดียว แต่ทว่าในขณะนี้ทีพีพีก็หมดหวังไปเสียแล้ว

มาเลเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่คาดว่า ทีพีพี จะช่วยดันให้เศรษฐกิจโตได้ราว 5.5% ทีเดียว เพราะจะทำให้การส่งออกปาล์มน้ำมันของมาเลเซียสามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐได้ง่ายขึ้น ซึ่งความล้มเหลวของทีพีพีนั้น ได้ทำให้มาเลเซียสูญเสียโอกาสไปไม่น้อยทีเดียว

และแน่นอน ประเทศที่น่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากความล้มเหลวของทีพีพี ก็คือจีน ซึ่งจะเป็นตัวตั้งตัวตี และเป็นผู้เล่นสำคัญใน ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซป ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งของทีพีพีโดยตรง

อีกทั้งจีนยังมีโครงการขยายเส้นทางเศรษฐกิจครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย อย่าง “วันเบลท์ วันโรด” ที่จะมีการก่อสร้างทาง ท่าเรือ ทางหลวง และทางรถไฟเชื่อมพื้นที่ของเอเชียเข้าด้วยกัน

ความล้มเหลวของทีพีพีในครั้งนี้ จะทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นผู้นำในเวทีการค้าเอเชียในภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม และดูเหมือนว่า หลายประเทศในเอเชีย ที่ไม่ได้เข้าร่วมในทีพีพีอยู่แล้ว เช่นประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ ก็จะให้ความร่วมมือกับอาร์เซป และวันเบลท์วันโรด มากขึ้นด้วย

นักวิเคราะห์นโยบายการค้าจำนวนไม่น้อยมองว่า จีนจะมีโอกาสในการเพิ่มอิทธิพลในเอเชียมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน