จับตาทุนสำรองฯ ม.ค. 2560 ของจีนลด หลังตรุษจีนอาจออกมาตรการใหม่เพิ่ม

20 ม.ค. 2560 | 11:13 น.
จับตาทุนสำรองฯ ม.ค. 2560 ของจีนลด...หลังตรุษจีนอาจออกมาตรการใหม่เพิ่ม

ประเด็นสำคัญ

•ทางการจีนคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการดูแลสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินตลอดทั้งปีระกานี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงตรุษจีนหรือปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ คงเป็นบททดสอบแรกของทางการจีนเนื่องจาก ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมีโอกาสที่จะปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ อันเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยา ซึ่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ตามมา อาจนำมาสู่การออกมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมได้

•มองไปข้างหน้า หากการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมีความล่าช้า ก็คงทำให้ตลาดการเงินจีนถูกท้าทายอยู่เป็นระยะๆ และกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบให้ตลาดการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ ทางการจีนอาจจะต้องตัดสินใจบนทางเลือกที่สำคัญ ว่าจะเลือกที่จะคุมเข้มตลาดการเงินต่อไป หรือจะยอมปล่อยให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/59 ที่ปรับดีขึ้น อาจช่วยให้ทางการจีนยังพอมีเวลาในการประคองสถานการณ์ รวมทั้งลดความกังวลต่อความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะ Hard Landing ได้บางส่วน

เมื่อมองภาพตลาดการเงินจีนในปี 2559 จนถึงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ส่งสัญญาณถึงโอกาสการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งส่งผลให้ทางการจีนต้องเข้ามาจัดการเพื่อลดความผันผวนของตลาด ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ทางการจีนมุ่งเน้นที่การดูแลเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้มีการอ่อนค่าในทิศทางที่ชัดเจน การเข้ามาดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินมากขึ้น ตลอดจน การขยายมาตรการออกไปยังตลาด ฮ่องกง เพื่อปิดช่องการเก็งกำไรค่าเงิน ผ่านการแทรกแซงให้อัตราการกู้เงินหยวนในตลาดฮ่องกง (CNH Hibor) เพิ่มสูงขึ้น เพื่อมิให้นักลงทุนสามารถสร้างผลกำไรจากการเก็งกำไรค่าเงินได้

อย่างไรก็ตาม รากของปัญหาที่แท้จริง อันได้แก่ ความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะหลังนั้น กลับยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งนั่นหมายความว่า  ตลาดการเงินจีนจะยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาความเชื่อมั่นอีกเป็นระยะๆ อันบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตลาดการเงินจีนอาจเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ด้วยภาพที่จะปรากฎชัดขึ้น ดังนี้

ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมีโอกาสจะปรับลดลงในจังหวะที่ค่อนข้างเร่งสู่ระดับต่ำกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และเงินหยวนอาจอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยา และจะกระตุ้นให้ตลาดกลับมาผันผวนมากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปรากฎการณ์ที่อาจเกิดขึ้นใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีนในวันที่ 28-30 ม.ค. 2560 หรือ อาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่จีนมีการเปิดเผยข้อมูลระดับเงินสำรองระหว่างประเทศครั้งหน้าในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2560     ทั้งนี้ ปัจจุบัน ระดับทุนสำรองฯ ของจีน อยู่ที่ 3.01 ล้านดอลลาร์ฯ (ข้อมูล ณ ธ.ค. 59) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีปัจจัยเฉพาะหน้า 3 ประการที่จะส่งผลให้ระดับทุนสำรองฯ ของจีนลดลง มาสู่ระดับต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาข้างต้น อีกทั้งทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงจากการเคลื่อนไหวในระดับ 6.8-6.9 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นระดับหลังจากมีการเข้ามาดูแลค่าเงินของทางการจีนตั้งแต่ ปลายปี 2559 ถึงปัจจุบัน) ได้แก่

ประการแรก การแถลงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งแม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า ปธน.ทรัมป์ จะเลือกใช้ท่าทีที่มีความแข็งกร้าวที่ลดลงในการเดินหน้ามาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนหรือไม่ แต่ในระยะใกล้ สัญญาณที่ส่งออกมา คงสร้างแรงกดดันเชิงจิตวิทยาต่อเงินหยวน โดยหากสหรัฐฯ นำมาตรการกีดดันการค้ามาใช้กับจีนที่จะทำให้ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง

ประการที่สอง ปัจจัยฤดูกาลในช่วงเทศกาลตรุษจีน (28-30 ม.ค. 2560) ที่มักมีเงินไหลออกค่อนข้างมาก จากชาวจีนที่มักออกเดินทางไปยังต่างประเทศค่อนข้างหนาแน่นกว่าปกติในช่วงเทศกาลดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะสถิติของนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยเอง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในระยะเวลาดังกล่าว จะเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 10-15%

ประการที่สาม โควต้าการนำเงินออกนอกประเทศของประชาชนจีนที่วงเงิน 50,000 ดอลลาร์ฯ ต่อคนต่อปี จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ในช่วงต้นปี 2560 อันอาจจะมีแรงจูงใจของประชาชนบางกลุ่มที่แลกเงินออกนอกประเทศเพิ่มเติม เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดต่างประเทศ ต่อเนื่องจากที่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา การฝากเงินในสกุลต่างประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น

ทางการจีนอาจเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการไหลเข้า-ออกของเงินทุนเพิ่มเติมภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และลดแรงกดดันจากปัญหาเงินไหลออกต่อเสถียรภาพของทุนสำรองฯ ของจีน หลังจากในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2559 ทางการจีนได้ปรับลดวงเงินโอนเงินออกนอกประเทศของบริษัทจาก 50 ล้านดอลลาร์ฯ เหลือ 5 ล้านดอลลาร์ฯ ตลอดจน เข้มงวดในเรื่องการซื้อกิจการต่างประเทศของบริษัทจีน รวมทั้ง การทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศผ่านระบบธนาคาร นอกจากนี้ ทางการจีนได้เข้ามาดูแลการลงทุนใน BitCoin แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อลดขนาดเงินไหลออกที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน อันสะท้อนผ่านตัวเลขรายการผิดพลาดคลาดเคลื่อนสุทธิ (Net errors and omissions) ในบัญชีดุลการชำระเงิน Balance of Payment ที่ติดลบมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้ หากมาตราการดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการดูแลภาวะการไหลออกของเงินทุน ทางการจีนอาจจะเพิ่มเติมมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การจำกัดเงินฝากเงินตราสกุลต่างประเทศ การขออนุญาตนำเข้าทองคำ การขออนุญาตซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ หรือการป้องกันการไหลออกของเงินลงทุนในช่องทางหลบเลี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติม

kb0120-1 ผลต่อไทย  ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินจีน ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี ทรัมป์ รวมทั้ง การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีความชัดเจนมากขึ้น คงส่งผลให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดการเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเซีย รวมทั้ง ไทย ซึ่งมีความเกี่ยงโยงกับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมากเผชิญกับความผันผวนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ ผลกระทบต่อไทยอาจจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง เนื่องจากทางการจีนยังคงพอมีทรัพยากรในการจัดการให้ตลาดกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อยู่ รวมทั้ง เสถียรภาพต่างประเทศของไทยก็ยังคงอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี คงต้องเตรียมรับมือรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหาก ประธานาธิบดี ทรัมป์ ส่งสัญญาณถึงท่าทีในการดำเนินมาตรการด้านการค้าต่อจีน รวมถึงปฏิกริยาที่ทางการจีนอาจะโต้กลับต่อคำขู่ของสหรัฐฯ อันอาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนตามมา

อย่างไรก็ตาม หากมองไปในระยะกลางถึงยาวการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าว คงไม่ตอบโจทย์เสถียรภาพเศรษฐกิจจีนนัก เนื่องจากจีนกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งภาพที่การผลิตหลายสาขายังคงเผชิญกับภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน (Over Capacity)  ปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงิน และปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับมาน่ากังวลมากขึ้น ในขณะที่ การเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ยังใช้เวลา ในระหว่างที่ปัญหาเฉพาะหน้าใหม่กำลังถาโถมเข้ามา นั่นคือ ต้นทุนทางการเงินกำลังปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนประเภท 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.20% ในปี 2559 ที่ผ่านมา และปรับขึ้นต่อในช่วงต้นปีนี้อีก 0.21% มาอยู่ที่ระดับ 3.24% ในปัจจุบัน ซึ่งภาพดังกล่าวตอกย้ำความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของจีนซึ่งนักลงทุนยังคงกังวลอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นเกี่ยวกับต้นทุนการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจเพิ่มเติมความท้าทายในการจัดการปัญหาหนี้ภาคธุรกิจ เนื่องจากภาคธุรกิจจีนกำลังเผชิญปัญหาความสามารถชำระหนี้ที่ลดลง โดย Interest Coverage Ratio  ลดลงจาก 11 เท่าในปี 2553 เหลือเพียง 5 เท่าในปี 2559 นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจีนส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้น อันอาจจะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจอาจจะขาดสภาพคล่อง หากต้นทุนการเงินในตลาดตราสารหนี้จีนยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดในวงกว้าง

แม้ว่าทางการจีนจะยังมีทรัพยากรในการตีกรอบปัญหาไม่ให้ลุกลามออกไปและเพียงพอที่จะรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนระดับหนึ่งในระยะยาว ทั้งนี้  ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากนัก โดยระดับความมั่นคงของทุนสำรองฯ ขั้นต่ำที่เกินเกณฑ์ของ IMF ที่ควรมีไม่น้อยกว่า 150% ของภาระหนี้ระยะสั้น หรือ ไม่น้อยกว่า 10% ของปริมาณเงินในความหมายกว้าง (M2) นั่นคือ มีระดับทุนสำรองฯ ในปริมาณที่ไม่น้อยกว่า 1.5-2.0 ล้านดอลลาร์ฯ  นอกจากนี้ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/59 ที่ขยายตัว 6.8% คงช่วยให้ทางการจีนผ่อนคลายความกังวลจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะเผชิญการชะลอตัวอย่างรุนแรงหรือ Hard Landing ไปได้ส่วนหนึ่ง แต่คงต้องยอมรับว่าด้วยปัญหาความไม่สมดุลด้านเสถียรภาพที่มีอยู่ ก็มีโอกาสเช่นกันที่ทางการจีนอาจจะเลือกปล่อยให้การปรับตัวของตลาดการเงินเป็นไปอย่างอิสระมากขึ้น(สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมทั้ง ลดภาระต้นทุนในการแทรกแซงตลาด) อาทิ การปรับช่วงการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจากปัจจุบันที่ 2.0% ให้สามารถเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างและสอดคล้องกับกลไลตลาดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจใช้เป็นประเด็นในการกีดกันทางการค้า หากค่าเงินหยวนปรับอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้  หากการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมีความล่าช้า ก็คงทำให้ตลาดการเงินจีนโดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนถูกท้าทายอยู่เป็นระยะๆ และกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบให้ตลาดการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนตลอดปีระกานี้ได้

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย