พาณิชย์นำกลยุทธ์เจรจาการค้าแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใช้กับคู่ค้า

18 ม.ค. 2560 | 12:00 น.
พาณิชย์นำกลยุทธ์การเจรจาการค้ารูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ มาใช้ในการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ตามนโยบายที่นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการค้าและการลงทุนของไทย กระทรวงพาณิชย์ จะนำกลยุทธ์การเจรจาการค้ารูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ หรือ strategic  partnership มาใช้ในการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายซึ่งจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนเร่งแก้ไขปลดล็อคปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่เดิมแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว

กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างจัดทำการวิเคราะห์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในเชิงลึก เบื้องต้นคาดว่าจะประกอบด้วยประเทศหลักๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย กลุ่ม CLMV จีน ญี่ปุ่น ปากีสถาน อินเดีย และอิหร่าน โดยจะต้องดูว่าไทยต้องการอะไรจากเขา เขาต้องการอะไรจากเรา และจะมีข้อเสนออะไรต่อกัน ซึ่งจะต้องสามารถเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน มีความครอบคลุม และกระจายไปในแต่ละภูมิภาคอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ในปีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเดินทางไปเจรจาขยายการค้าการลงทุน กับหลายๆ ประเทศ เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ มีกำหนดเยือนประเทศต่างๆ โดยในช่วงต้นเดือนจะร่วมคณะท่านรองนายกฯ สมคิด เยือนเมียนมา เพื่อนำคณะเอกชนไปเจรจาขยายความร่วมมือ 4 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย คือ กลุ่มโลจิสติกส์-ก่อสร้าง กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มพลังงาน การประชุมขยายความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจสิงคโปร์กับไทย หรือ การประชุม STEER  ไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 5 ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อขยายความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างกัน และในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะนำคณะนักธุรกิจด้านสินค้าอาหารและบริการ ไปเยือนงาน Gulf food ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกลาง ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพของไทยทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อใช้ดูไบเป็นฐานสร้างความเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา

นางอภิรดีกล่าวสรุปว่า ขณะนี้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศคู่ค้า ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ การทำ FTA ที่ผ่านมา มีผลทำให้การค้าขยายตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การค้าไทยกับอินเดียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1,500 เป็น 7,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การค้าไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 4,600 เป็น 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2560 นี้จะเจรจาเสร็จอีก 2 ฉบับ คือ FTA ไทย-ปากีสถาน และ FTA อาเซียน-ฮ่องกง