ก.แรงงานยันมีมาตรการดูแลแรงงานประมงแน่นหนา

19 ธ.ค. 2559 | 14:16 น.
กระทรวงแรงงาน ยันมีมาตรการดูแลแรงงานประมงแน่นหนา เข้มนายจ้างฝ่าฝืนเจอโทษหนัก

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่มีสื่อต่างประเทศและสื่อไทยเผยแพร่ข่าวกรณี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รายงานการศึกษาระบุว่า ฝูงเรือประมงไทยไปจับปลาในน่านน้ำที่ไม่มีการควบคุมห่างจากชายฝั่งไทยหลายพันกิโลเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐบาลในการทำประมงผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้รายงานยังระบุว่าเรือประมง 2 ลำได้เดินทางกลับไทยหลังจากออกทะเลไปนานกว่า 1 ปี และมีลูกเรือชาวไทยและกัมพูชาเสียชีวิต 6 รายจากโรคเบอริเบอรี หรืออาการเหน็บชาเนื่องจากขาดวิตามิน โดยที่เรือได้ทอดสมออยู่นอกชายฝั่งมาดากัสการ์หลายเดือน และขนถ่ายสัตว์น้ำที่จับได้ให้เรือสินค้าที่มีห้องแช่แข็งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่นั้น

จากการตรวจสอบ พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 กระทรวงแรงงาน ได้รับการประสานจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ให้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบเรือประมงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ทั้ง 2 ลำ คือ เรือ ส.สมบูรณ์ 19 มีลูกจ้าง 30 คน เป็นไทย 5 คน กัมพูชา 25 คน โดยพบแรงงานกัมพูชาเสียชีวิต 5 คน นอกจากนี้ยังพบว่าไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 ประกอบกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ในเรื่องไม่จัดทำหลักฐานเวลาพัก ไม่จัดทำทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทย และไม่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง

ส่วนอีกลำเป็นเรือทรัพย์สิงห์ไทย 20 มีลูกจ้าง 21 คน เป็นไทย 14 คน กัมพูชา 7 คน โดยพบแรงงานไทยเสียชีวิต 1 คน และพบว่า ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 ประกอบกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ในลักษณะเดียวกันกับเรือส.สมบูรณ์ 19

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายคนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน และเงินช่วยเหลือค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต ส่วนลูกจ้างที่เหลือนายจ้างได้นำกลับภูมิลำเนาทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการฟ้องร้องเจ้าของเรือประมง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการของอัยการ

ทั้งนี้ มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบเรือประมงทั้งก่อนเข้าฝั่งและออกจากฝั่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะแรงงานบนเรือทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ให้มีบัตรประจำตัว นายจ้างต้องมีสัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง หลักฐานการจ่ายค่าจ้าง ข้อตกลงด้านสวัสดิการและเวลาพัก เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 รวมทั้งการตรวจเอกสารประจำเรือ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และคนประจำเรือให้เรียบร้อยถูกต้อง ความถูกต้องของเอกสารการจับปลา ที่มาและจำนวนของสินค้าทะเล ตลอดจนความพร้อมของเรือและจำนวนลูกเรือที่ครบตามบัญชีเมื่อเรือกลับเข้าฝั่งเพื่อให้มีความปลอดภัยเพียงพอก่อนการออกเรือในแต่ละครั้ง โดยกระทรวงแรงงานมีพนักงานตรวจแรงงานบูรณาการตรวจร่วมกับกองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ภายใต้การดำเนินการของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออก เรือประมง (PIPO) ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ

นายอนันต์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีนี้ได้มีแนวทางการตรวจสอบติดตามผล หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการอย่างเฉียบขาด ทั้งนี้ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามมาตรา 87 ห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล เว้นแต่เป็นการขนถ่ายไปยังเรือประมงที่ได้จดทะเบียนให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่ทำการประมงต้องได้รับอนุญาตทางวิทยุสื่อสารหรือช่องทางอื่นทำนองเดียวกันจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า