เปิดสูตรแจ้งเกิด‘บอนชอน’ 6 ปี ยอดขายทะลุพันล้านบาท

18 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ความสำเร็จของ บอนชอนชิคเก้น (BonChon) ที่สามารถปักธงในตลาดไก่ทอด สมรภูมิธุรกิจที่จัดว่าเดือดพล่าน ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา“ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้ขอนำช่วงบางตอนจากการสนทนากับ ธัญญาศรี พัฒนาสกลุ กรรมการผู้จัดการและเจ้าของ บริษัท มาชิสโสะ จำกัด สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์แบรนด์ Bon-Chon ในประเทศไทย โดยโฟกัสเฉพาะสูตรแจ้งเกิดธุรกิจตำรับเฉพาะของเธอ เป็นสำคัญ

จุดกระแสตลาดไก่ทอด

ธัญญา เริ่มต้นการสนทนาโดยกล่าวถึงที่มาที่ไปของบอนชอนในไทยว่า บอนชอนเหมือนผู้เปิดตลาดไก่ทอดเกาหลีมากกว่า เป็นอีกเซ็กเมนต์หนึ่งที่เราเชื่อว่าคนไทยไม่เคยทานมาก่อน โดยเราได้เข้ามาตลาดนี้เมื่อ6 ปีที่แล้ว จากกลยุทธ์การเติบโตสร้างความรู้จัก ด้วยการบอกต่อของลูกค้าที่ประทับใจมาทาน

“เราไม่คิดว่าเราจะมีคู่แข่งตรงๆ ขนาดนั้น ไม่ได้มองเลยว่าบอนชอนเข้ามาจะมีผลอย่างไรกับเคเอฟซี เพราะโมเดลธุรกิจทั้งกลุ่มลูกค้าและระดับราคาต่างกันมากกับเคเอฟซี, เชสเตอร์กริลล์ และแมคโดนัลด์ ที่เป็นแนวฟาสต์ฟูดไปเลย คนจะไม่รู้สึกว่าบอนชอนเป็นไก่ทอดขนาดนั้นเพราะเรายังมีเมนูอื่นๆอีกเยอะ แต่ยอมรับว่าการเข้ามาของบอนชอน สร้างกระแสไก่ทอดมากโดยรวม และมีคู่แข่งเพิ่มอย่างเท็กซัสชิกเก้น (สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยปตท.) ที่เข้ามาตีตลาดโดยตรงกับเคเอฟซี”

ย้อนเส้นทาง บอนชอน เป็นร้านอาหารไก่ทอดที่มีต้นกำเนิดเปิดในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลี เมื่อปี 2545 แต่หลังจากเจ้าของแบรนด์ย้ายกลับไปทำที่สหรัฐอเมริกา เป็นKorean-styled chicken เจ้าแรก ได้รับความนิยมในหมู่ของคนไทยในนิวยอร์ก ด้วยความที่ ธัญญาและเพื่อนชอบไปทานในระหว่างศึกษาที่สหรัฐฯ หลังเรียนจบจึงสนใจเป็นมาสเตอร์ แฟรนไชส์ของประเทศไทยโดยเปิดสาขาขึ้นแห่งแรกที่ทองหล่อเมื่อต้นปี 2554 ก่อนจะขยับขึ้นห้างสรรพสินค้า และด้วยกระแสตอบรับทำให้ร้านเป็นที่ต้องการของห้างใหม่ๆมากขึ้น ในตำแหน่งพื้นที่ดี และมีขนาดพื้นที่ใหญ่ขึ้นกว่า 200 ตารางเมตรจากเดิม 120-150 ตารางเมตร นอกจากนี้จากการลองเปิดร้านในย่านชานเมืองมากขึ้นที่รังสิต, บางนา, พระราม2 ได้ผลตอบรับเกินคาด ทำให้ในช่วง3 ปีหลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

โตเท่าตัว-ต่อยอดแฟรนไชส์

ยอดขายบอนชอนขยับขึ้นต่อเนื่อง ได้เพิ่มจาก 289 ล้านบาท ในปี 2557 เป็น 543 ล้านบาท ในปี 2558 และ 11 เดือนแรกของปีนี้ทะลุไปแล้วกว่า 900 ล้านบาท จากเป้าหมายตั้งไว้ที่ 800 ล้านบาท โดย 2 ปีนี้ (2558-2559) ได้ขยายสาขาเพิ่มถึง 15 แห่ง โดยมีสาขารวมถึงสิ้นปีนี้ที่ 25 สาขา ทั้งยังประสบความสำเร็จจากการต่อยอดธุรกิจ โดยขายแฟรนไชส์ให้กับ SSP international (บริษัทในเครือไมเนอร์) เปิดร้านบอนชอนในสนามบินถึง 3 สาขา คือที่ดอนเมือง 2 สาขาและที่สุวรรณภูมิ 1 สาขา

“แนวโน้มตลาดไก่ทอด ยังเติบโตได้อีกเรื่อยๆ ตราบใดที่คู่แข่งมองว่า ในหลายๆ ร้าน ยังมีคิว มีกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการเสิร์ฟ และการเติบโตของตลาดไก่ทอดก็ไม่ได้มาแค่กับกระแสการเข้ามาของแบรนด์อินเตอร์ ยังมาจากการที่หลายร้านที่เพิ่มเมนูไก่ทอด เพื่อตอบรับความต้องการตรงนี้ด้วย” เธอให้รายละเอียด

ปีหน้า เข้าห้างรุกภูธร

ด้วยเป้าหมายเติบโต 30% เพื่อดันยอดขายทะลุพันล้านบาท บอนชอนต้องขยับและรุกหลายๆ ด้านไปพร้อมกันเธอลำดับเรื่องว่า กลยุทธ์การตลาดของบอนชอนในปี 2560 จะขยายต่อทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลตามการเปิดของห้างใหม่ ตามหัวเมืองใหญ่, ภาคอีสานที่มีกำลังซื้อยังดี และในโซนที่ยังไม่เคยเปิดเลย เช่นที่ศรีนครินทร์ โดยรวมปีหน้าจะเปิดเพิ่มไม่ตํ่ากว่า 5 สาขา มียอดขายโตเพิ่ม 30% หรือที่ 1,200 ล้านบาท การลอนช์ (ออก) เมนูใหม่ และจัดแคมเปญเจาะกลุ่มเด็กมากขึ้น จากกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ยังเป็นวัยรุ่น และวัยทำงาน

การจัดกิจกรรมแข่งขันกินไก่เป็นปีที่ 3 เพื่อตอกยํ้าแบรนด์และกระตุ้นยอดขายผ่านสาขา ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากขึ้นเช่น “ไลน์กิฟต์ช็อป” โดยให้ส่วนลดในการซื้อ และจับมือกับ 3 พันธมิตรดีลิเวอรีหลักคือ ฟูด แพนด้า, เชฟเอ็กเพรส(หรือ เชฟ XP) และกินจา ที่ผ่านมาการขายผ่านดีลิเวอรี (ส่งตรงถึงบ้าน) บอนชอนยังมีสัดส่วนไม่ถึง 2% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ธัญญาบอกว่ามีโอกาสโตอีกมาก โดยเห็นชัดพอมีแอพพลิเคชัน “ไลน์แมน” คนเริ่มรู้ว่าสะดวกแค่ไหนในการสั่งซื้ออาหาร และมีอีกหลายเจ้าที่จะเข้ามาในลักษณะเดียวกับ “ไลน์แมน “ซึ่งจะช่วยขยายการบริโภคของไทยเติบโตได้มาก

นอกจากนี้บอนชอนต้องกระชับการบริหารด้านอื่นๆ อีกเช่น สาขาที่ยอดขายนิ่งในคอมมิวนิตีมอลล์บางแห่งจะปรับเป็น “ดีลิเวอรีฮับ” เป็นแหล่งส่งสินค้าในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีแผนจะสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยอยู่ระหว่างศึกษาและวิจัยเพื่อให้เกิดความมั่นใจเสียก่อนว่าสินค้าดีจริงถูกปาก ไม่สามารถก๊อบปี้ได้ง่ายๆ อยู่ได้อย่างยั่งยืน

แบรนด์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

การที่ยอดขายบอนชอน จะแตะหลักพันล้านบาทปีหน้า หรือนัยหนึ่งคือขยับขึ้นมาเป็นกิจการขนาดกลาง เธอวางเป้าหมายธุรกิจไว้อย่างไร มีแผนเข้าตลาดหุ้นหรือไม่? ธัญญา บอกว่ายังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ (ระดมทุน) แต่ถ้าในอนาคตต้องการพัฒนาแบรนด์และเติบโตอย่างรวดเร็ว เธอบอกว่า “ไม่แน่”

สูตรแจ้งเกิด

สูตรแจ้งเกิดธุรกิจคืออะไร? ธัญญายอมรับว่าการได้แฟรนไชส์ที่ดี (บอนชอน)เป็นหนึ่งในหัวใจของความสำเร็จ เธอใช้คำว่า “โชคดีที่สินค้าดี” ข้อดีหลักๆ ของแบรนด์ลิขสิทธิ์ มักจะได้รับการทดสอบตลาดมาจากต่างประเทศแล้วว่า สินค้ามีคุณภาพและเป็นที่ถูกใจผู้บริโภค และอีกทั้งยังได้รับการตอบรับจากห้างสรรพสินค้าในการหา location (ทำเล) ได้ง่ายกว่าแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง และการนำเข้าแบรนด์มา ยังทำให้เราได้ทราบถึง know how ต่างๆ และได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทแม่ด้วย ส่วนข้อเสียก็คือต้นทุนในการทำธุรกิจที่แพงกว่าแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง จากค่าการซื้อแบรนด์เริ่มต้น และค่า Loyaltyจากยอดขายที่ต้องแบ่งให้กับทางแบรนด์ต้นสังกัด”

ปัจจัยถัดมา เมื่อสินค้าดี ลูกค้าบอกต่อ และคุมคุณภาพและบริการอยู่ แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องโตเร็วโดยที่รากฐานยังไม่มั่นคง จุดเด่นของบอนชอนคือ เราค่อนข้างตอบโจทย์ลูกค้าเป็นแพ็กเกจโดยรวมได้เพราะไม่ใช่แค่อาหารอร่อยแล้วจะไปได้ไกลยั่งยืน แต่ส่วนประกอบอื่นบริการและบรรยากาศก็ต้องดีด้วยให้ลูกค้าเข้ามาแล้ว เขารู้สึกได้ว่ามันเป็นแพ็กเกจคุ้มค่ากับเวลาการรอคอยและราคาที่ต้องเสียไป” ธัญญากล่าวและอีกปัจจัยคือ ที่เธอเชื่อว่ามีส่วนผลักดันให้ธุรกิจมาสู่เป้าหมายคือ เธอชอบทำอาหาร มีพื้นฐานทำการค้าจากครอบครัว (โรงเลื่อยไม้) จึงถนัดจิ้มเครื่องคิดเลขตั้งแต่เด็ก และได้หุ้นส่วนรู้ใจ ทั้งนี้ บริษัท มาชิสโสะ จำกัด ถือหุ้นโดยธัญญาและครอบครัว 70%และอีก 30% เป็นของเพื่อนสมัยเรียนเตรียมอุดม (พรพิมล วงศ์ศิริกุลเจ้าของและผู้บริหารฝ่ายอินทีเรียร์)

กำลังซื้อ “โจทย์ใหญ่” ปีหน้า

ในฐานะคนทำธุรกิจมองปีหน้าอย่างไร? ธัญญา กล่าวว่า ปัจจัยในปีหน้า ภาวะเศรษฐกิจเป็นโจทย์ท้าทายอย่างปี 2558 ยังไม่เห็นสัญญาณเรื่องเศรษฐกิจมากเท่าปีนี้ และปี 2559มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนไม่ค่อยใช้จ่าย เห็นได้จากยอดสาขาบางแห่งที่ลดลง แต่เทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ เรายังกระทบน้อยและการที่บอนชอนยังมียอดขายรวมโตเป็นเท่าตัว ก็มาจากการขยายสาขาและขนาดต่อสาขาที่ใหญ่ขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,219 วันที่ 18-21 ธันวาคม 2559