พาณิชย์ผลักดันเกษตรอินทรีย์ ชูยโสธรเป็นจังหวัดต้นแบบ

15 ธ.ค. 2559 | 04:22 น.
นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน ยโสธรออแกนิกส์แฟร์2016 (Yasothon Organic Fair 2016) ที่จังหวัดยโสธรว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สานต่อนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล โดยกำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรยกระดับรายได้และสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรของประเทศ ให้ก้าวพ้นจากการติดกับดัก การขายสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ ซึ่งราคาต่ำและมีการแข่งขันสูง ประกอบกับเป็นการดำเนินงานให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ที่ส่งเสริมการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรจึงได้ส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตทางการเกษตรที่ผสมผสานแนวคิดยุคใหม่เจาะตลาดเฉพาะ(niche market) สำหรับผู้บริโภคปัจจุบันที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ในตลาดโลก

จังหวัดยโสธร ถือเป็นแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีศักยภาพทางการผลิตเกษตรอินทรีย์ ครบวงจรทั้งข้าว ผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ ตลอดจนปศุสัตว์ รวมทั้ง มีความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และมีการบูรณาการงานด้านเกษตรอินทรีย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตแปรรูป รวมไปถึงการตลาดสร้างมูลค่าแก่จังหวัดและประเทศจำนวนมาก นำไปสู่การกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน” และได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ   ของประเทศ (ยโสธรโมเดล) ความสำเร็จนี้  มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของไทย สามารถขยายผลต่อยอดไปสู่จังหวัดใกล้เคียงและจังหวัดอื่นๆ

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2564 ด้วยวิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน” โดยมียุทธศาสตร์หลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) สร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Awareness Raising) 2) ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ (Standardize) 3) พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์ (Market Expansion) และ 4) พัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าและบริการอินทรีย์ (Value Creation) โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการเหล่านี้จะช่วยให้ไทยได้ส่วนแบ่งกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท และมีอัตราเติบโตประมาณร้อยละ 20 ต่อปี โดยประเทศไทยมีมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ประมาณ 2,300 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 10 ต่อปี คิดเป็นการส่งออกไปต่างประเทศแล้ว ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี