ท้องถิ่นตั้งวงท้วง‘ยุบอบต.’ซัดรัฐหวังควบคุม-ขอสมัครใจทดลองนำร่อง

16 ธ.ค. 2559 | 01:00 น.
ตามที่คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) จัดทำโรดแม็ปและเตรียมสรุปความเห็นสุดท้ายเสนอครม. เพื่อเริ่มกระบวนการขับเคลื่อนปฎิรูปด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแนวทางที่อนุกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอและผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสปท.ไปแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยุบอบต.ไปควบรวมเป็นเทศบาล เพื่อให้เป็นรูปแบบทั่วไปทั้งประเทศ ท่ามกลางความกังวลของแวดวงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) นั้น

ล่าสุด สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเวทีเสวนา”ยกฐานะอบต. ควบรวมเทศบาล คือคำตอบสุดท้ายการปฏิรูปท้องถิ่นจริงหรือ” ระหว่างวันที่ 10 – 13 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี โดยมีตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมระดมสมอง ชี้ว่าในทางปฎิบัติบางพื้นที่จะมีปัญหา ไม่เห็นด้วยที่จะดำเนินการพร้อมกันทีเดียวทั้งประเทศ และเสนอให้ค่อยทำในส่วนที่พร้อมนำร่องไปก่อน

นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอสปท.ที่ให้ใช้เทศบาลเป็นรูปแบบทั่วไปนั้น ต้องยุบอปท.จาก 7,000 กว่าแห่งเหลือ 3,000กว่าแห่ง สะท้อนความไม่จริงใจภาครัฐ เพื่อจะคุมอปท.ได้ง่ายขึ้น แต่ส่งผลกระทบประชาชนที่จะใช้บริการยุ่งยากขึ้น พื้นที่ขยายกว้างขึ้น แล้วผู้บริหารท้องถิ่นที่มีจำกัดลงก็จะยุ่งยากมาก แค่กำนัน 2-3 คนต้องมาควบรวมก็เหนื่อยแล้ว จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายการปฎิรูปท้องถิ่น

ด้านนายเทียมทัน ปัญญา เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การบังคับให้ควบรวมเป็นการมัดมือชก ไม่มีหลักประกันรายได้ท้องถิ่นในระยะยาว เหมือนไปตายเอาดาบหน้า การปฎิรูปท้องถิ่นควรแก้ระเบียบกฎหมาย เพิ่มอำนายท้องถิ่น ให้มีระเบียบรองรับการใช้จ่ายงบประมาณ จากปัจจุบันระเบียบออำจากกระทรวงให้อำนาจ แต่จ่ายไปแล้วสตง.มาไล่ตรวจ ท้องถิ่นถูกกำกับหมด โอนภารกิจให้แต่ไม่มีบุคลากร ไม่มีงบ ไม่ให้ความรู้ แล้วมาบอกว่าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ ต้องปฎิรูปตรงนี้ด้วย

การปฏิรูปท้องถิ่นควรทำตัวแบบขึ้นมาแล้วให้ท้องถิ่นที่สมัครใจรวมกันก่อน เป็นยุทธศาสตร์ท้องถิ่น 5-10 ปี เมื่อตัวอย่างทำได้ดีแล้วที่อื่น ๆ ก็จะทำตามได้ต่อไป เวลานี้ที่มีปัญหาเพราะประชาชนไม่รู้ว่าจะควบรวมอย่างไร ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ตัดสินอนาคตของตนเอง ไม่มีใครถามพี่น้องประชาชนเลย จึงอยากให้มีโมเดลนำร่องก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่แน่นอน ผลเสียตกอยู่กับพี่น้องประชาชนแน่นอน ท้องถิ่นไม่อยากควบรวมอยู่แล้ว

ด้านนางจันทนา สุทธิจารี หัวหน้าศูนย์ศึกษาการบริหารกิจการบ้านเมืองระดับท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจะยกฐานะ อบต. ควบรวมเทศบาลเพื่อเป็นการปฎิรูปท้องถิ่นนั้น ต้องถกกันรอบด้านในการรวมหรือแยก อย่างไหนดีไม่ดีอย่างไร วิธีคิดของรัฐกับของประชาชนหลายครั้งก็ไม่เหมือนกัน หรืออีกขั้นประโยชน์ของรัฐกับของประชาชนบางทีก็ไม่ตรงกัน

ประสบการณ์ในอดีตชุมชนเคยอยู่ด้วยกันดีแล้ว มีแยกเขาให้มี 2 อบต. แยกงบประมาณ แยกทีมบริหาร เกิดการแย่งชิงฐานทรัพยากรในพื้นที่ ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ การจะทำอะไรต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย หลายคนมองว่าหน่วนปกครองส่วนท้องถิ่นหลากหลาย มีขนาดเล็ก ทับซ้อนกันไปหมด ทำให้สับสน แล้วอยากดันให้ใหญ่ขึ้น เหมือนอยากให้เกิด 2 พรรคใหญ่เหมือนต่างประเทศ แต่สุดท้ายต้องดูด้วยว่าสอดคล้องกับวิถีทางของเราเองหรือไม่ เพราะเมื่อใหญ่ขึ้นความหลากหลายก็น้อยลง ต้องดูกันให้ชัดที่ว่าดีนั้นดีกับใคร

ขณะที่นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ ผู้แทนคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า การพัฒนาต้องทำตลอดไม่มีอะไรเบ็ดเสร็จ หลายเรื่องต้องเรียนรู้ไปโดยเฉพาะสังคม ครั้งแรกการกระจายอำนาจเรามองว่า องค์กรเดิมสามารถเดินได้ แต่ไประยะหนึ่งก็ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ดีขึ้น ซึ่งมี 2 ส่วนคือ 1. ส่วนเป้าหมายต้องการอะไร 2.อะไรเป็นปัจจัยขวางทำให้เดินไปไม่ถึง คราวนี้เป็นโอกาสของการปรับในกระแสปฏิรูปประเทศ

ส่วนนายณรงค์ เชื้อบุญช่วย ผู้อำนวยการสํานักงานคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การยกฐานะ อบต.ควบรวมเทศบาล ประเด็นแรกต้องดูว่าถ้าควบรวมแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องยึดหลักกระจายอำนาจ ถ้าควบรวมแล้วเขามีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น บริการประชาชนได้มากขึ้นอย่างนั้นก็สมควรที่จะควบรวม

“ในมุมมองผมไม่เห็นด้วย คือไม่ได้ขยายอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นไป ถ้าเราร่างประมวลแล้วถ้าเราขยายอำนาจของท้องถิ่นทำอะไรได้มากขึ้น อิสระมากขึ้น แบบนี้เห็นด้วย แต่ปัจจุบันนี้ถ้าเปรียบเทียบกับกฎหมาย อบต. เทศบาล อบจ. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อำนาจของท้องถิ่นจะน้อยลงด้วยซ้ำไป”

ทั้งนี้ สมาคมจะรวบรวมข้อคิดเห็นและประเด็นท้วงติงต่าง ๆ เสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาผลักดันการปฎิรูปท้องถิ่นต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,218 วันที่ 15-17 ธันวาคม 2559